แชร์ว่อน "วิตามินบี" ลดการเกิดภาวะใหลตายหรือหัวใจล้มเหลว สธ.แจงแล้ว
แชร์ว่อน "วิตามินบี" ช่วยลดการเกิดภาวะไหลตาย หรือหัวใจล้มเหลว สธ.แจงแล้วสามารถทำได้จริงหรือไม่ งานนี้ประชาชนเช็คข้อมูลก่อนเชื่อ
ตามที่มีการแนะนำข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง "วิตามินบี" สามารถลดการเกิดภาวะใหลตายหรือหัวใจล้มเหลว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์บทความในสังคมออนไลน์โดยระบุว่า "วิตามินบี" อาหารเสริมที่ช่วยลดการเกิดภาวะใหลตาย ทางสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงว่า โรคใหลตาย (Brugada Syndrome) เป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค Cardiac channelopathy หรือโรคทางพันธุกรรมที่โครงสร้างหัวใจปกติ (normal structural heart) มีการเปลี่ยนแปลงของยีน (SCN5A) ของกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้ Ion channel ของ Sodium ทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีกราฟไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ มีลักษณะจำเพาะ (Coved-type ST-segment elevation V1-V3) ทำให้ง่ายต่อการเกิดหัวใจห้องล่างเต้นผิดปกติชนิดรุนแรง (polymorphic VT , ventricular fibrillation) ซึ่งทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตล้มเหลว หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน สำหรับการรักษาผู้ป่วย Brugada Syndrome ยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาโดยการผ่าตัดฝั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาอาการโดยการใช้ยา
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว ว่า "วิตามีนบี" จะสามารถลดภาวะไหลตายหรือหัวใจล้มเหลวได้ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ https://www.ccit.go.th/ หรือโทร 02-547-0999
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : โรคใหลตายเป็นโรคหนึ่งในกลุ่มโรค Cardiac channelopathy หรือโรคทางพันธุกรรมที่โครงสร้างหัวใจปกติมีการเปลี่ยนแปลงของยีน กล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้ Ion channel ของ Sodium ทำงานผิดปกติ การรักษาที่สำคัญ คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาโดยการผ่าตัดฝั่งเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาอาการโดยการใช้ยาดังนั้น "วิตามีนบี" จึงไม่สามารถลดภาวะดังกล่าว
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข