ทำยังไง เงินล้าน จาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เงินออม ของ ลูกจ้าง ไว้ใช้ยามชรา
ทำความรู้จัก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เงินออม ลูกจ้าง มนุษย์เงินเดือน สอนวิธีคำนวณ สิทธิประโยชน์ หาก ลาออก ก่อนเกษียณ วางแผนออมยังไงให้ได้ เงินล้าน
"มนุษย์เงินเดือน" กับ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" สำคัญยังไง เขาพูดกันว่า จะมี เงินออม เงินล้าน ใช้ยามเเก่จริงไหม โพสต์นี้มีคำตอบ หลังชาวเน็ตตั้งกระทู้สงสัยเหล่ามนุษย์เงินเดือนจะมีเงินออมใช้ยามเกษียณกันเท่าไรแล้ว
A ถาม : มนุษย์เงินเดือน แต่ละท่านมีเงินออมใน "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" เท่าไรครับ
"ผมทำงานมา 8 ปีได้ ตอนนี้มีเงินในกองทุน 3 แสนกว่าๆ หัก 5% บวกสบทบของบริษัท หวังว่าจะมีเงินก้อนนี้พอเกษียณตอนแก่บ้าง แต่ละท่านเป็นไงกันบ้างครับ"
B ตอบ : ทำงานมา 20 ปี มี 4 ล้าน เหลืออายุงานอีก 14
c ตอบ : ทำงาน 16 ปี ตอนออกงาน ได้ 8 แสน ตามใช้หนี้บัตร เหลือติดตัว 1 แสน
D ตอบ : generation ที่กำลังเกษียณอยู่ เริ่มทำงานก่อนมีกองทุน จะสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่เต็มอายุงาน ขาดไปเป็นสิบปี เอามาเทียบกับปัจจุบันได้ยาก ถ้านับเด็กที่เพิ่งทำงานปีนี้จนเกษียณ ด้วยฐานเงินเดือนเริ่มต้นที่สูง เวลาสะสมผลประโยชน์ที่ยาวนานถึง 30 ปี จะได้เกินล้านทุกคน เฉลี่ยน่าจะ 2-5 ล้าน ถ้าตลาดการเงินไม่วิบัตินะ
E ตอบ : ทำงานอยู่ที่เดิม มา 15 ปี มีเงินอยู่ในกองทุน 800,000 รวมของบริษัทด้วย พึ่งมาหักเก็บเดือน ละ 15% ของส่วนตัว เมื่อ 3 ปีผ่านมาแล้ว แต่ก่อน 10% ส่วนออฟฟิตสมทบ 5% สมัยก่อน ออฟฟิศให้ 10% แต่ผลประกอบการไม่ค่อยดี เลยปรับลดลง ถือว่าเป็นเงินเกษียน หรือ โดนไล่ออก หรือ ตกงานไป เวลาฉุกเฉิน
อ่านมาถึงตรงนี้เเล้วสงสัยไหมว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" คืออะไร หากเป็น "มนุษย์เงินเดือน" มีสิทธิได้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกคนไหม
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" (Provident Fund : PVD) คืออะไร
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund" คือ กองทุนที่นายจ้าง และ บลจ. จัดตั้งขึ้นให้กับลูกจ้างเพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างมีเงินใช้หลังเกษียณ โดยลูกจ้างสามารถเลือกจ่าย เงินสะสม ได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือน ซึ่งนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบ เพิ่มให้อีกตามนโยบายของบริษัท ถือเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจกว่าการลงทุนรูปแบบอื่นตรงที่เงินสมทบจากนายจ้างเปรียบเสมือนเราได้เงินจากบริษัทเพิ่ม
สิทธิประโยชน์จาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"
1. เงินสะสม เราสามารถเพิ่ม หรือลดลงได้
เงินสะสมของลูกจ้างที่นำไปรวมกับเงินสมทบของนายจ้าง จะถูกนำไปลงทุนเพื่อให้เงินนั้นงอกเงยมากขึ้น โดยเราเองก็สามารถปรับจำนวนเงินที่สะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ตั้งแต่ 2%-15% ของเงินเดือน แน่นอนว่าถ้าลูกจ้างสะสมเงินมากขึ้น ก็จะมีเงินใช้ยามเกษียณมากขึ้นไปด้วย ใครที่มีเงินเหลือจากการใช้จ่ายรายเดือน แนะนำให้สะสมให้มากที่สุด เท่าที่สามารถออมไหว ซึ่งจำนวนเงินตรงนี้ก็ขึ้นกับนโยบายของบริษัท ว่าจะให้ปรับได้ปีละกี่ครั้งและกำหนดเพดานเงินสะสมหรือไม่
2. เงินสมทบมีลักษณะอย่างไร?
สำหรับเงินสมทบที่บริษัทให้นั้น ก็จะขึ้นกับนโยบายของบริษัท ว่าเป็นแบบคงที่ตลอดอายุงานของพนักงาน หรือจะเพิ่มให้สูงขึ้นตามอายุงาน เช่น
- ทำงานปีที่ 0-3 บริษัทจะสมทบเงินให้ 3%
- ทำงานปีที่ 3-5 บริษัทจะสมทบเงินให้ 5%
- ทำงานปีที่ 5-7 บริษัทจะสมทบเงินให้ 7%
- และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ทำงานสูงสุดคือ 15%
ตัวอย่างคำนวณเงินสมทบ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"
นาย A มีเงินเดือน 20,000 บาท
นาย A ต้องเลือกก่อนว่าจะสะสมเงินกี่ % เช่น นาย A อาจจะเลือก 5% ดังนั้น เงินเดือนที่ได้มา ก็จะถูกเก็บออมไว้ 1,000 บาททุกเดือน โดยเหลือเงินไว้ใช้ประมาณ 19,000 บาท
ส่วนเงินสมทบที่นายจ้างให้มา จะเป็นดังนี้
- ถ้าทำงานในปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับนาย A ทุกเดือน เดือนละ 3% คือ 600 บาท
- ถ้าทำงานในปีที่ 3 ถึงปีที่ 5 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับนาย A ทุกเดือน เดือนละ 5% คือ 1,000 บาท
- ถ้าทำงานในปีที่ 5 ถึงปีที่ 7 : บริษัทจะทยอยสะสมให้กับเราทุกเดือน เดือนละ 7% คือ 1,400 บาท
และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามปีที่ทำงาน จากนั้นทั้งเงินสะสมและเงินสมทบก็จะถูกนำไปบริหารลงทุนให้เราได้ผลตอบแทน หรือที่เราเรียกว่า "ผลประโยชน์" ขึ้นมา
3. สิทธิการได้เงินสมทบ
เงินสมทบจากข้อ 2 ถ้าลูกจ้างลาออกก่อนครบเงื่อนไข อาจจะได้เงินมาไม่เต็มจำนวน ซึ่งจะได้จำนวนมากหรือน้อยก็ขึ้นกับอายุงานที่กฎระเบียบของบริษัทระบุไว้
ตัวอย่างคำนวณเงินสมทบที่ได้รับกรณีลาออกก่อนครบเงื่อนไข
อายุงาน อัตราเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ
ที่กองทุนจะจ่ายเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพ
น้อยกว่า 1 ปี 0%
ตั้งแต่ 1 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 2 ปี 20%
ตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 3 ปี 40%
ตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 4 ปี 60%
ตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 5 ปี 80%
ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป 100%
นาย A ทำงานมาแล้ว 4 ปี มีเงินสะสมจากเงินเดือนตัวเอง 100,000 บาท และมีเงินสมทบจากบริษัท 100,000 บาท แต่บังเอิญว่าลาออกมาก่อนครบ 5 ปี ตามเงื่อนไข คือ นาย A จะได้เงินสมทบเพียงแค่ 80% คือ 80,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมที่ตัวเองมีก็จะเป็น 180,000 บาท
4. แผนการลงทุน Employee’s Choice คืออะไร
หากแปลง่าย ๆ คือการให้ ลูกจ้าง เลือกลงทุน หรือ เป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองได้ เพราะก่อนหน้านี้ กองทุนแต่ละกองจะมีเพียง 1 นโยบาย ลูกจ้างจึงไม่มีตัวเลือก นายจ้างกำหนดนโยบายใดไว้ก็ต้องเลือกลงทุนแบบนั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตราสารหนี้ ทำให้ลูกจ้างบางกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้ในระดับสูงได้ กลับเสียโอกาสที่อาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าและการมีเงินเกษียณที่เยอะขึ้น
ในปัจจุบัน มีนายจ้างหลายรายที่จัดตั้งกองทุนโดยมีนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถเลือกแผนการลงทุนที่มีทั้งความเสี่ยงต่ำ เสี่ยงกลาง หรือเสี่ยงสูง ในแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง บางรายยังเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถผสมสัดส่วนการลงทุนได้เองด้วย
5.สิทธิอื่น ๆ ที่จะช่วยรักษาผลประโยชน์ของลูกจ้าง
5.1 ใครเป็นคนบริหารจัดการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" และ มีนโยบายอะไรให้ลงทุนบ้าง
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ใดเป็นผู้ดูแลเงินก้อนนี้ ผู้จัดการกองทุนเป็นใคร มีประสบการณ์ในการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ผลตอบแทนของกองทุนที่ผ่านมาดีกว่ากองทุนอื่น ๆ หรือไม่ มีค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ แพงไปไหมเมื่อเทียบกับ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่อื่น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ เนื่องจากเป็นส่วนที่ทำให้เงินของกองทุนมีโอกาสเติบโตได้ หาก บลจ. ที่ใช้บริการอยู่บริหารจัดการลงทุนได้ไม่ดี ในฐานะเจ้าของเงินพวกเราต้องช่วยกันพิจารณาในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ บลจ. ที่ดีเข้ามาดูแลให้เงินที่เราเก็บออมมาลงทุนเพื่อการเกษียณนั้นเติบโตงอกเงยได้อย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ ต้องทราบด้วยว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทมีกี่นโยบายให้เลือก เพราะว่ายิ่งมีแผนให้เลือกจำนวนมาก ก็จะเลือกแผนลงทุนได้เหมาะกับตนเองมากขึ้น
5.2 ลูกจ้างต้องเข้าใจเรื่องการลงทุน และสิทธิในการปรับแผนการลงทุน
ก่อนที่จะเลือกแผนการลงทุน ลูกจ้างควรทำความเข้าใจ การลงทุน ด้วยเหมือนกัน เช่น การลงทุนตราสารหนี้, การลงทุนในหุ้น รวมไปถึงสินทรัพย์ลงทุนต่าง ๆ เช่น ทองคำ อสังหาฯ นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในต่างประเทศด้วย อาจจะไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เพราะว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะมีผู้จัดการกองทุนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล แต่ควรเข้าใจเรื่องความเสี่ยงและผลตอบแทนเบื้องต้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง
โดยการปรับแผนการลงทุน หรือ การปรับสัดส่วนการลงทุน นั้น จะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในนโยบายของ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" แต่ละที่ บางกองทุนเปิดให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน หรือทุกปี และ บลจ. ส่วนใหญ่จะมี application และ website ให้เราสามารถเข้าไปดูเงินสะสม เงินสมทบ ผลตอบแทน และนโยบายที่เลือกลงทุนได้
5.3 ต้องทราบว่าใครเป็นกรรมการ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"
ข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเราต้องการทราบข้อมูลรายละเอียด หรือสิทธิประโยชน์ที่เรามี หรือว่าต้องการเพิ่มเติมแผนการลงทุนของเราให้มีรายละเอียดมากขึ้นเราจะได้แจ้งให้ทางกรรมการกองทุนทราบได้ เพื่อรักษาสิทธิของพวกเรา รวมถึงการเลือกผู้บริหารจัดการกองทุน เพื่อให้ได้ผลประโยชน์จากการลงทุนที่ดีที่สุด
6. หากต้องออกจาก "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" มี สิทธิประโยชน์ อะไรบ้าง
กรณีออกจากกองทุนก่อนกำหนดจะเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีด้วย ซึ่งต่างจากกรณีทำงานจนเกษียณและถอนเงินตามเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นภาษี กฎหมายกำหนดว่าหากลูกจ้างออกจากกองทุน จะต้องได้รับเงินภายใน 30 วัน ดังนั้น ควรรีบแจ้งคณะกรรมการกองทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ และเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม
การลาออก
กรณีที่ 1
เงื่อนไข
- การลาออกจากกองทุน แต่ไม่ลาออกจากงาน
- ลาออกจากงานอายุงาน < 5 ปี
ผลที่ได้รับ คือ ไม่สามารถใช้สิทธิแยกคำนวณภาษี ต้องนำเงินที่ได้รับไปคำนวณภาษีเงินได้ทั้งจำนวน
กรณีที่ 2
เงื่อนไข ลาออกจากงานและอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
ผลที่ได้รับ คือ นำเงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยสามารถแยกยื่นจากการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเท่ากับ 7,000 บาท คูณอายุงาน (ปี) เมื่อลบกันแล้ว เหลือเท่าไหร่ให้นำมาหักค่าใช้จ่ายได้อีก 50% หลังจากนั้นนำจำนวนเงินที่เหลือไปคำนวณภาษีในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่เงินก้อนนี้จะไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้น 150,000 บาทแรกเหมือนการคำนวณตามวิธีเงินได้สุทธิ
ตัวอย่าง
นาย B ได้รับเงินจากกองทุนมา 500,000 บาท ด้วยอายุงาน 15 ปี
เงินก้อนนี้นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 500,000 – (7,000x15ปี) = 395,000 บาท
จากนั้นก็นำ 395,000 นั้นมาหักค่าใช้จ่ายได้อีกครึ่งหนึ่ง 395,000/2 = 197,500บาท
และนำเงิน 197,500 บาท ไปคำนวณภาษี โดยจะเสียในอัตรา 5% หรือเท่ากับ 9,875 บาท
เพราะเงินก้อนนี้ไม่ได้รับสิทธิ์ยกเว้น 150,000 บาทแรกนั่นเอง
ส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ ที่จะได้รับเงินสบทบ และผลประโยชน์ 100% เต็ม และไม่เสียภาษีด้วยก็มี เช่น พนักงานที่พ้นจากการเป็นลูกจ้างด้วยเหตุเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือ เกษียณอายุ โดยเราสามารถตรวจสอบเงื่อนไขต่าง ๆ ได้ที่กรรมการกองทุน และ บลจ. ที่ดูแล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นอกจากนี้ เมื่อลูกจ้างออกจากงาน ย้ายงาน สามารถคงเงินไว้ในกองทุนได้ โดยยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ของกองทุนอีกด้วย เพราะ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ลาออกจากงานแล้ว สามารถคงเงินในกองทุนได้ โดยสามารถเอาเงินก้อนที่สะสมคงไว้ในกองทุนได้นานเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องบอกกับทาง บลจ. ว่าจะคงไว้กี่ปี และต้องไม่ขัดกับข้อบังคับของกองทุนด้วย เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ และหากที่ทำงานใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถย้ายเงินก้อนนี้ไปที่ทำงานใหม่ได้ด้วยเช่นกัน
จุดที่ดีก็คือ ระหว่างที่กองทุนทำงานทำเงินให้เรานั้น ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากเงินที่เราเอาไว้ในกองทุนนั้น จะยังคงได้รับอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกจ้างได้ 100 บาท ณ วันที่ลาออก แต่ยังคงเงินไว้ในกองทุน ผ่านมา 3 ปี อาจจะได้รับเงินเพิ่มเป็น 150 บาท หากกองทุนทำผลตอบแทนได้ดี
"กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" จ่ายเงินให้กับสมาชิกเป็นงวด ๆ ให้หลังการเกษียณ
คล้ายเป็น ระบบบำนาญ ของลูกจ้างเอกชน โดยสามารถที่จะบอกกับทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ว่า ให้เอาเงินที่เราสะสมไว้ในกองทุนนั้นทยอยส่งให้ทุก ๆ เดือน หรือทุก ๆ ปีก็ได้ ขึ้นกับข้อตกลง (มีค่าธรรมเนียมรายปีไม่เกิน 500 บาท) ที่สำคัญคือกองทุนยังคงทำงานให้กับเรา อย่างน้อยก็มีคนคอยบริหารเงินให้กับเราได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะการเกษียณ แล้วก็ตาม
คลิกอ่านกระทู้พันทิป
ขอบคุณข้อมูล จากสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์กำกับหลักทรัพย์
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057