นักวิชาการ จับผิด ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ศบค. ไม่บอกความเป็นจริง
อ.เจษฎ์ โพสต์ตั้งข้อสังเกต จับผิด ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ของ ศบค. และสถานการณ์ ระบาด ทำคนติดตามประเมินสถานการณ์โควิดยากขึ้น
อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงาน สถานการณ์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" ไว้ว่า
"จับผิด ศบค. เรื่องรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ และ สถานการณ์ การ ระบาด โควิด "
โพสต์เรื่องนี้ เดี๋ยวคนในกระทรวงสาธารณสุขก็เข้ามาโวยผมอีกแน่ ๆ แต่มันเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะต้องคุยกันตรงๆ นะครับ
คือถ้าจำได้ ที่ผมโพสต์อัพเดทกราฟสถานการณ์โรค "โควิด" เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผมพล็อตกราฟยืนยันว่า ตอนนี้โควิดในไทยเป็นขาขึ้นชัดเจน เพราะค่าจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมันกำลังเป็นขาขึ้น / และน่าจะเป็นขาขึ้นมาซัก 1 เดือนแล้ว (ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน) เพราะกราฟของจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ จะล้อตามกราฟผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ประมาณ 1 เดือนพอดี
แต่ปริศนาที่คาอยู่ก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ทั้งจาก PCR และ ATK อย่างเป็นทางการของแดชบอร์ด ก.สาธารณสุข มันต่ำมาก (รวมประมาณไม่เกิน 5 พันคนต่อวัน) มาโดยตลอด ไม่ได้แสดงสัญญาณของการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อเลย !? และผมก็สงสัยว่าจะมีการปกปิดตัวเลขอะไรหรือเปล่า ทำให้คนไม่รู้ตัวกันว่า "หลังเปิดเทอม" มีการเพิ่มขึ้นของการระบาด "โควิด" จนเมื่อได้มาดูรูปประกอบ จากการแถลงข่าวของ ศบค. ที่ทำเนียบรัฐบาล วันศุกร์ที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมานั่นแหละ เลยจับพิรุธอะไรบางอย่างได้
เพราะทาง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ได้เอารูปกราฟการระบาดของโควิด แบบแยกรายจังหวัด มาให้ดู เพื่อเตือนว่ามีหลายจังหวัดที่อยู่ในช่วงขาขึ้นของการระบาด โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต ที่มีแนวโน้มการระบาดเพิ่มสูงมากสุด
ซึ่งตรงนี้แหละที่ถ้าไม่สังเกตดีๆ ตามแถลงข่าว (เนื่องจากไม่มีการพูดถึง) ก็จะไม่ทราบเลยว่า เราเจอสถานการณ์ "post declining with small wave" นั้นคือ การระบาดของ โควิด ระลอก โอไมครอน ตลอดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ได้เป็นขาลงเรียบร้อยแล้ว แต่มีระลอกเล็ก ๆ ตามมาในเดือนมิถุนายน !?
นั่นคือ ถ้าดูแต่เฉพาะค่าตัวเลข PCR และ ATK ที่รายงานในแต่ละวัน จะไม่มีทางทราบเลยว่า ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีระลอกเวฟการระบาดเกิดขึ้นแล้ว แม้จะไม่สูงมากก็ตาม
ซึ่งผมคำนวณย้อนกลับโดยดูจากกราฟจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ ย้อนหลังไป 1 เดือน ก็คาดว่าน่าจะสูงสุดที่ประมาณ 3 หมื่นรายต่อวัน (อันนี้คือใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นทางการนะครับ ไม่ได้เอาไปคูณ 3-4 เท่า แบบที่เคยคุยกันว่าเลขจริงๆ น่าจะสูง)
แสดงว่า เรามีข่าวร้ายคือ เราไม่อาจจะเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด จากแค่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวัน PCR และ ATK อย่างเป็นทางการได้ เพราะมันไม่บอกความเป็นจริง ตัวเลขผิดปรกติไปเยอะ !
(มีจุดพิรุธอีกอย่างคือ แดชบอร์ดไม่มีการให้ข้อมูล ATK เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2565 ซึ่งหลังจากนั้น ค่าก็ต่ำเกินจริงมาโดยตลอด)
แต่ข่าวดีก็คือ ถ้าเป็นจริงตามที่สงสัยนี้ แสดงว่าเราผ่านจุดพีคมาแล้วตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2565 และกราฟน่าจะกำลังลงมาเรื่อย ๆ จนสถานการณ์ดีขึ้นในปลายเดือน ก.ค. นี้ (สอดคล้องกับธรรมชาติของ โอไมครอน ที่ระบาดเวฟละ 2 เดือน) เดี๋ยวรอดูคอนเฟิร์มสมมติฐานทั้งหมดนี้ ด้วยกราฟจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบตอนปลายเดือนนี้ครับ ที่น่าจะถึงจุดพีคตามกันมาเหมือนกัน
ปล. ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมกับกรณีที่ ศบค. ก็ออกมายอมรับว่า มีตัวเลขอีกชุดที่ไม่ได้เปิดเผยมาก่อน คือ ตัวเลข OPSI หรือ OP SELF ISOLATION ที่เกิดจากโครงการ "เจอ แจก จบ" ให้ผู้ติดเชื้อมาเป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล แล้วรับยาเสร็จกลับบ้านไปเลย ซึ่ง OPSI นี้อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นรายต่อวัน มาหลายเดือนแล้ว ดังนั้น จึงน่าจะไม่เคยเอาตัวเลขนี้ เข้ามารวมกันในแดชบอร์ดด้วย
ทั้งนี้ ล่าสุด อ.เจษฎ์ ระบุด้วยว่า จู่ๆ ตารางที่เคยแสดงค่า ATK รายวัน ก็โดนเปลี่ยนแล้วอ่ะ
กลายเป็นต่อไปนี้จะไม่บอกค่าผู้ติดเชื้อ ATK รายวันแล้ว แต่กลายเป็นรายสัปดาห์แทน ... อย่างนี้ ประชาชนทั่วไป ก็ยิ่งติดตามประเมินสถานการณ์โควิดยากขึ้นอีก
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Website - www.komchadluek.net
Facebook - https://www.facebook.com/komchadluek
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057