เด่นโซเชียล

ชาวเน็ตแชร์สนั่น อาจเกิด "น้ำท่วม" ครั้งใหญ่ ส.ค. - ก.ย. จริงหรือ เช็กให้ชัวร์

ชาวเน็ตแชร์สนั่น อาจเกิด "น้ำท่วม" ครั้งใหญ่ ส.ค. - ก.ย. จริงหรือ เช็กให้ชัวร์

06 ส.ค. 2565

มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องจีนระบายน้ำท่วมลง แม่น้ำโขง เดือน ส.ค-ก.ย อาจเกิด "น้ำท่วม" ใหญ่ที่ประเทศไทย-ลาว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ตามที่มีการส่งต่อข้อมูลในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องจีนระบายน้ำท่วมลง แม่น้ำโขง เดือน ส.ค-ก.ย อาจเกิด "น้ำท่วม" ใหญ่ที่ประเทศไทย-ลาว ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

จากกรณีที่มีผู้แชร์คลิปวิดีโอสร้างความตื่นตระหนกในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเป็นภาพเคลื่อนไหวการระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่และมีข้อความระบุว่าประเทศจีนได้ระบายน้ำมาทางแม่น้ำโขง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ประเทศไทยและลาวได้ในเดือน สิงหาคม-กันยายนนั้น ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ และไม่มีความจริงแต่ประการใด

 

โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ตรวจสอบแล้วพบว่าคลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นการระบายน้ำของเขื่อนเสี่ยวล่างตี่ ซึ่งเป็นเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแม่น้ำเหลือง (แม่น้ำฮวงโห) มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน โดยแม่น้ำเหลืองเป็นแม่น้ำที่อยู่บริเวณตอนกลางของประเทศจีนที่ไม่ได้เชื่อมต่อแม่น้ำล้านช้างที่เป็นต้นทางของแม่น้ำโขง

สำหรับแม่น้ำเหลือง หรือ แม่น้ำฮวงโห เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสองของประเทศจีน รองจากแม่น้ำแยงซี ไหลจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ผ่านหลายมณฑลในประเทศจีนและไหลออกสู่ทะเลเหลืองในที่สุด ส่วนแม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและประเทศจีน ไหลเข้าสู่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 

ต่อจากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม

 

นอกจากนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ติดตามสถานการณ์ "น้ำท่วม" แม่น้ำโขง พบว่าระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2565 เพิ่มขึ้น 1.24 เมตร หรือคิดเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 1,090 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ประกอบกับคาดการณ์จะมีฝนตก "น้ำท่วม" เพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำโขง ตอนล่าง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2565 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. สถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันระดับน้ำ 3.22 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.58 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2565 ประมาณ 1-1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

2. สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันระดับน้ำ 5.59 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.41 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 2-3 สิงหาคม 2565 ประมาณ 0.8-1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

3. ตั้งแต่สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย จนถึง สถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งเฉลี่ย 6.5 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 5-8 สิงหาคม 2565 ประมาณ 0.8-1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงนั้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้รับการประสานข้อมูลปริมาณฝน และปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช.

 

ทำให้มีข้อมูลทั้งข้อมูลคาดการณ์ล่วงหน้าและข้อมูล Real Time ในสถานีตรวจวัดระดับน้ำตลอดทั้งลำน้ำเพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงจะได้แจ้งให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป