"สาว" แชร์วิธีบริหารเงิน หลังผ่านประสบการณ์ ทำงานหนัก จนล้มป่วย สูญเงินเก็บ
"สาว" อยากเตือนคนที่ทำงานหนัก หาเงินให้เยอะเพราะหวังว่าจะสบายในอนาคต แต่ไม่รู้จักบริหารเงิน ไม่เรียนรู้ที่จะบริหารความเสี่ยง จากใจคนล้ม
กลายเป็นประเด็นบนโลกโซเชียลที่คนพูดถึงมากทีเดียวกับ "สาว" รายหนึ่ง ที่ออกมาแชร์วิธีบริหารเงินในเว็บไซต์พันทิป โดยรายละเอียดต่าง ๆ มีดังนี้
เมื่อก่อนเคยได้ยินคนพูดกันขำๆ ว่า “ทำงานแทบตาย สุดท้ายเอาเงินมารักษาตัว” แต่ไม่เคยเชื่อเลย คิดมาตลอดว่ายิ่งทำงานหนักตอนนี้ อนาคตเราจะยิ่งสบาย จนมาเจอกับเข้าตัวเองว่าคำพูดที่คนชอบพูดกันขำๆ ตอนนั้นมันเป็นความจริง และพอเกิดกับตัวเองมันขำไม่ออกสักแอะ ปราสาททรายที่เพียรสร้างมาตลอดพังลงตรงหน้าแบบไม่เหลือซากอะไรเลย เงินเก็บทั้งหมดที่เคยคิดว่าจะเอาไว้ใช้ตอนเกษียณต้องเอามาเป็นค่ารักษาตัวจนหมด ชีวิตเหมือนต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ตอนอายุ 32 กลายเป็นคนไม่เหลืออะไรสักอย่างจนกลับมาคิดกับตัวเองว่า สิ่งที่ทำมาทั้งหมดมันสูญเปล่าเกินไปหรือเปล่า
"สาว" รายนี้ยังกล่าวอีกว่า มีช่วงหนึ่งที่ป่วยหนักๆ แล้วต้องอยู่โรงพยาบาลคนเดียวมันมีความคิดแวบเข้ามาในหัวว่าตัวเองเหมือนหนูที่วิ่งวนอยู่ในตู้ปลา ถามตัวเองย้ำๆ ว่าเราดิ้นรนทำไม เราเกิดมาดิ้นรนวนไปมาแล้วสุดท้ายก็รอวันตาย ถ้าตายไปตอนนี้เลยเราก็ไม่ต้องดิ้นรนแล้วหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ตกผลึกว่าจริงๆ เราต้องมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อคนที่เรารักและรักเรา
ขอเท้าความก่อนนะคะว่าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วๆ ไปเลย แต่เราเป็นพวกบ้างานมาก ทำทั้งงานประจำและฟรีแลนซ์ สอนพิเศษ แปลบทความ เขียนบทความ อะไรที่เป็นงานทำหมดไม่เคยเกี่ยงจริงๆ ขอแค่ได้เงินแค่นั้นพอ ความคิดมีแค่อยากรวย และทางเดียวที่เราจะรวยได้คือทำงานให้เยอะ แม้เราจะไม่ได้รวยมีเงินเป็นถุงเป็นถังแต่ก็คิดว่าเราไม่ได้ลำบากเหมือนตอนเด็กแล้ว ทำให้มากกว่าคนอื่นเพราะรู้สึกว่าต้นทุนเราน้อย เลยต้องทำให้เยอะเข้าว่า ไม่งั้นคงหลุดจากความจนไม่ได้
ต้องบอกก่อนว่าเราเกิดในครอบครัวธรรมดาหาเช้ากินค่ำมากๆ พ่อแม่ไม่ได้มีสมบัติอะไรให้เลย นอกจากความรู้ที่เขาพยายามส่งเสียให้ได้เรียนมาติดตัว เรียนจบหวังแค่ว่าต้องรีบสร้างเองหาเอง เรารีบใช้หนี้เก่า พยายามเป็นเสาหลักให้ครอบครัว ความจริงคนรอบข้างเตือนตลอดเรื่องทำงานหนักว่าเราน่าจะใช้ชีวิตบ้าง แต่เพราะคิดว่าตัวเองแข็งแรงมาตลอด เพราะไม่เคยเจ็บป่วยอะไร เลยไม่ได้สนใจฟังคำพูดของคนอื่น เราทำงานอาทิตย์ละ 7 วันไม่เคยหยุด นอนวันละ 4-5 ชั่วโมงคือมากสุดแล้ว กลางวันทำงานประจำ กลางคืนเป็นฟรีแลนซ์ เสาร์อาทิตย์ก็ทำงาน เราไม่เคยให้ตัวเองมีวันหยุดพัก เพราะคิดว่าทุกนาทีของเรามันต้องทำงาน เรียกว่าทุกลมหายใจของเราคืองานอย่างเดียวจริงๆ ถ้าเราว่างจะรู้สึกผิดกับตัวเองทันทีว่าทำไมไม่ทำงาน อันนี้เป็นความคิดที่ผิดมากๆ แต่ตอนนั้นเราคิดแบบนั้นจริงๆ
"สาว" รายนี้ยังกล่าวอีกว่า ยิ่งเห็นเงินเก็บในบัญชีเยอะขึ้นมันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราต้องหาเงินต่ออีก เข้าขั้นตระหนี่เลยละ เรื่องเที่ยวเตร่ แหล่งคาเฟ่ยอดนิยมนี่ตามไม่ทัน ไม่คิดอยากไป พยายามไม่ใช้จ่ายออกไป เพื่อจะทำให้ยอดเงินในบัญชีมันขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าช่วงนั้นเสพติดการหาเงินมากๆ พอเห็นตัวเลขในบัญชีก็ภาคภูมิใจเอง ชื่นใจเองคนเดียว คิดไปเองว่าที่บ้านคงภูมิใจไปกับเราด้วยเราหามรุ่งหามค่ำมานานหลายปี
จนเริ่มมารู้สึกว่าตัวเองป่วยตอนที่เดินแล้วรู้สึกเหมือนตกหลุม บางทีเดินอยู่ดีๆ รู้สึกว่าตัวเองทรงตัวไม่ค่อยได้ บางทีก็บ้านหมุน ตอนนั้นคิดแค่ว่าตัวเองน่าจะพักผ่อนน้อย แล้วเป็นคนไม่ถูกโรคกับโรงพยาบาลก็หายามากินเองตามอาการ จนวันหนึ่งเราป่วยหนักขนาดที่ต้องเรียกรถโรงพยาบาลมารับ เพราะคิดว่าถ้าเราไปช้าอีกนิดเดียวเราอาจจะตายก็ได้ ซึ่งมันก็จริงตรงที่หมอก็พูดแบบนั้น จำได้เลยว่าสิ่งแรกที่หมอพูดกับเราคือ “ทำไมปล่อยให้ตัวเองป่วยหนักขนาดนี้”
ตอนนั้นไม่รู้ว่าคำว่าป่วยหนักมันแค่ไหนถึงเรียกว่าหนัก แต่ตัวเองรู้สึกเหมือนกึ่งหลับกึ่งตื่นตลอด เรานอนซมอยู่แต่ในห้องเพราะกลัวตัวเองเป็นโควิดก็พยายามตรวจอยู่ตลอดแต่ก็ไม่เจอ เลยคิดว่าไข้หวัดทั่วไป จนถึงตอนที่หมอบอกว่าเราป่วยนะ ต้องเข้ากระบวนการรักษาเลย รอต่อไปไม่ได้แล้วเพราะระบบร่างกายเรามันกำลังจะล้มเหลวเป็นทอดๆ เหมือนโดมิโนล้ม มันมีผลต่อกันไปหมด วินาทีนั้นเหมือนตัวเองฝัน เพราะเราไม่เคยป่วยมาก่อน ไม่เคยต้องแอดมิดโรงพยาบาลสักครั้งในชีวิต งงว่าตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ยังไง
ช่วงที่รักษาตัวเป็นอะไรที่ยุ่งยากใจมากแต่นั่นก็ไม่ยุ่งยากเท่าตอนที่เราเข้าๆ ออกโรงพยาบาลแล้วต้องมีคนดูแล พ่อแม่เราอายุเยอะแล้วเขาไม่สามารถดูแลเราได้น้องสาวก็เลยต้องออกจากงานมาเป็นคนคอยดูแล พาไปหาหมอตามนัด เราต้องเอาเงินเก็บตัวเองทั้งหมดที่มีมารักษาตัว เพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างที่นอกเหนือจากประกันสังคมมี พวกค่าอาหาร ของกินของใช้เวลาต้องไปหาหมอ เป็นช่วงที่เงินเก็บค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนเรารู้สึกแย่ ยิ่งเห็นเงินในบัญชีลดลงยิ่งเครียดหนักกว่าเดิม
ตอนนั้นคิดว่าจะทำยังไงดี ถ้าเราตายพ่อแม่เราจะทำยังไง เขาจะอยู่ได้ยังไง ไหนน้องที่ต้องออกจากงานมาดูแลเราอีก ชีวิตยากลำบากมาก แต่เราโชคดีที่พ่อแม่น้องเป็นหลักให้ยึดจนผ่านตรงนั้นมาได้ เรียกว่าชีวิตรอดตายมาได้เพราะครอบครัวจริงๆ ถ้าเราไม่มีเขาเราคิดว่าตัวเองอาจจะตัดสินใจทำอะไรที่ไม่ดีไปแล้วก็ได้ ตอนนั้นรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวสุดๆ ความภูมิใจที่เคยมีว่าตัวเองเก่ง ทำงานเก่ง หาเงินได้เยอะมันถูกทำลายจนรู้สึกว่าตัวเองคือตัวภาระ แต่ครอบครัวเราทำให้เราเห็นว่าเราไม่ได้เป็นแบบตัวเองคิดเลย จนเราคิดได้และลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง รักษาตัวจนหายดี ทั้งร่างกายและจิตใจ เราผ่านตรงนั้นมาได้เพราะความรักของครอบครัวจริงๆ
พอผ่านตรงนั้นมาได้เราเลยตกผลึกกับตัวเองว่า แค่หาเงินเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่มันต้องรู้จักบริหารเงิน และกระจายความเสี่ยงด้วย ความคิดนี้เราต้องขอบคุณหนังสือ “พ่อรวย สอนลูก” ที่จุดประกายความคิดให้ตัวเองตกผลึกเรื่องนี้ ขอบคุณหนังสือ หนังสือ Money 101 เริ่มต้นนับหนึ่งสู่ชีวิตการเงินอุดมสุข ที่ทำให้เรารู้จักการวางแผนทางการเงินมากขึ้น
สุดท้ายอยากแชร์วิธีการบริหารเงินของเราที่คิดว่าทำแล้วชีวิตเริ่มต้นใหม่อย่างมั่นคงมากขึ้น เผื่อเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน จะได้รีบวางแผนทางการเงินและไม่ต้องล้มเหลวจนต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่แบบเรา อันนี้เป็นการวางแผนทางการเงินที่เราปรับจากหลายๆ ที่แล้วเลือกแบบที่เหมาะสมกับตัวเราที่สุดค่ะ
1.ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย
เราเป็นคนที่ทำรายรับ-รายจ่ายมาตลอด คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรามองเห็นว่าเราได้รายรับมาจากไหนบ้าง และใช้จ่ายอะไรไปบ้าง พอถึงสิ้นเดือนก็จะมาดูภาพรวมอีกทีว่าเดือนที่ผ่านมาเราจ่ายค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอื่นๆ ไปเท่าไหร่ แล้วค่อยมาวางแผนว่าควรลดตรงไหน และควรเพิ่มตรงไหนบ้าง
2.เงินสำรองฉุกเฉิน
เงินสำรองฉุกเฉินคือเงินที่เราจะเอาออกมาใช้ได้ในยามฉุกเฉิน ควรเป็นเงินที่เบิกถอนออกมาใช้ได้เลย ไม่ต้องมีเงื่อนไขมาก หรืออะไรก็ได้ที่จะแปรสภาพมาเป็นเงินได้ง่ายๆ เมื่อก่อนเราไม่ได้คิดถึงเงินสำรองฉุกเฉินเลย ไม่ได้วางแผนว่าถ้าเราต้องหยุดงานนานๆ หรือมีเหตุให้ต้องหยุดงานจะเอาเงินตรงไหนมาใช้ เลยต้องดึงเงินเก็บทั้งหมดที่มีก้อนเดียวมาใช้ทั้งหมด พอได้รู้เรื่องเงินสำรองเราเลยแบ่งเงินส่วนหนึ่งมาเก็บไว้ใช้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน
เงินก้อนนี้เราจะดูว่าแต่ละเดือนตัวเองมีรายจ่ายอะไรบ้าง แล้วสำรองเอาไว้ 3-6 เดือน เช่น
รายจ่ายของเราแต่ละเดือนประมาณ 25000
-ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 12000 บาท
-ให้พ่อแม่ 5000 บาท
-ค่าบัตรเครดิต 5000 บาท
-ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 3000 บาท
เงินก้อนนี้ที่เราจะใช้สำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินประมาณ 75000 - 150000 บาท เงินก้อนนี้เราทยอยฝากไปเรื่อยๆ ไม่ได้ฝากเป็นก้อนทีเดียว เราไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าเราจะเจออะไรอีกบ้าง แต่อย่างน้อยก็จะอุ่นใจว่าถ้ามีเหตุฉุกเฉินจริงๆ เราจะมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป
3.ลงทุนเพื่ออนาคต
ยอมรับตามตรงว่าไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวมาก จนได้คุยกับน้องคนหนึ่งแล้วเขาอธิบายเรื่องเงินเฟ้อว่า เงิน 50 บาทตอนนี้อาจจะซื้ออาหารได้ 1 จาน แต่อนาคตอาจจะซื้อลูกชิ้นได้แค่ 1 ไม้ ซึ่งเราเพิ่งมาเข้าใจอย่างถ่องแท้จริงๆ เรื่องเงินเฟ้อตอนนี้แหละ ช่วงที่เงินเฟ้อทั่วโลก และเข้าใจแล้วว่าทำไมเงินฝากธรรมดาถึงเอาชนะเงินเฟ้อได้ยาก เงินหนึ่งล้านในวันนี้อาจจะมีค่าแค่แสนเดียวในอีกห้าหกปีข้างหน้าก็ได้เราเลยกระจายการลงทุนแยกตามความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ สมมติว่ามีเงิน 100 บาท เราจะแบ่งลงทุนใน
-สลากออมสิน 40 บาท
-กองทุนรวม 30 บาท
-หุ้น 30 บาท
อันนี้เราแบ่งตามที่ตัวเองรับได้ และคิดว่าถ้าเข้าใจการลงทุนมากขึ้นกว่านี้เราอาจจะปรับพอร์ตการลงทุนตัวเองในอนาคต อันนี้อยู่ที่การออกแบบของตัวเองเลย ส่วนตัวซื้อกองทุนรวมเพื่อเหตุผลทางภาษีด้วย ส่วนสลากออมสินความเสี่ยงต่ำสุดอันนี้ลงมากหน่อย หุ้นเรา DCA ตามเทรนด์ที่ตัวเองเลือกหุ้นตามพื้นฐาน ไม่ได้ปรับพอร์ตอะไรมาก เพราะยังไม่ได้เก่งขนาดนั้นค่ะ แต่อนาคตคิดว่าน่าจะหันมาดูเรื่องหุ้นมากขึ้นเพราะเริ่มสนุกกับการลงทุน
4.ลงทุนกับสุขภาพ
การลงทุนข้อนี้สำหรับเราเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เมื่อก่อนไม่เคยคิดเลยเพราะมองว่าเราจ่ายประกันสังคมทุกเดือน เจ็บป่วยก็คงใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ และไม่เคยคิดว่าตัวเองจะล้มป่วย ข้อนี้เราจะลงทุนโดยการ
-ออกกำลังกายให้มากขึ้น ยอมจ่ายค่าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกายอย่างน้อยที่สุดก็วิ่งหรือเดินวันละ 1 ชั่วโมง เวทเทรนนิ่งบ้างแล้วแต่โอกาสจะอำนวย พอได้ออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีขึ้นมาก รู้สึกร่างกายสดชื่นขึ้น ไม่ค่อยปวดตัว แล้วก็ปรับการนอน และใช้ชีวิตให้บาลานซ์ขึ้น
-ประกันสุขภาพ เมื่อก่อนไม่เคยสนใจเลย และไม่เคยรู้รายละเอียดเพราะคิดว่าใช้ประกันสังคมได้ แต่มันมีหลายอย่างที่อยู่นอกเหนือจากที่ประกันสังคมจะจ่ายให้ได้ เราเลือกประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายโรคร้ายแรง เพราะคิดว่าน่าจะคุ้มครองได้ครอบคลุม แล้วเอาไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย ส่วนตัวทำประกันสุขภาพของโตเกียวมารีนไว้ แล้วก็ซื้อสัญญาเพิ่มเติมพวกสุขภาพกับโรคร้ายแรงด้วย
อย่ามองว่าประกันสุขภาพเป็นเรื่องไม่จำเป็นนะคะสำหรับเรามันคือการกระจายความเสี่ยงหนึ่งอย่างที่เราไม่อาจจะรู้ได้ในอนาคต ส่วนคำแนะนำสำหรับการเลือกประกันคือ เลือกในแบบที่ตอบโจทย์เราที่สุดค่ะ จริงๆเรามีประวัติการเจ็บป่วยแล้วคิดว่าไม่น่าจะมีบริษัทไหนกล้ารับความเสี่ยงนี้ แต่พอดีไปรู้จักพี่ตัวแทนแนะนำดี ให้ข้อมูล พร้อมกับมีเพิ่มเบี้ยกรณีสุขภาพของเราที่เรารับได้ ซึ่งเราก็พิจารณาการเลือกประกันสุขภาพจากการคำนวณว่าเราสามารถจ่ายเบี้ยได้เท่าไหร่ และเลือกมาหลายๆ เจ้า เทียบกันว่างบที่เราจ่ายได้เท่านี้มีกรมธรรม์ไหนบ้างที่คุ้มที่สุด แล้วก็เลือกตัวนั้น แนะนำว่าให้อ่านให้ละเอียดเพื่อประโยชน์ของเราค่ะ
5.วางแผนทางภาษี
ภาษีเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องมากๆ น้องที่มาทำงานใหม่ๆ ชอบถามเรื่องภาษีว่ายื่นยังไงต้องยื่นอะไรบ้าง ซึ่งส่วนตัวเราคิดว่าเรื่องพวกนี้สำคัญไม่ต่างกัน นอกเหนือจากการลดหย่อนที่เป็นค่าลดหย่อนทั่วไปแล้วเราก็เพิ่มการลดหย่อนจาก
-ประกัน
-กองทุนรวม
-การบริจาค