"หมู่บ้าน" สุดแปลก ปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป เมื่อ ความตาย มิอาจพราก
พิธีกรรม สุดแปลก "หมู่บ้าน" ชาวโตราจา อินโดนีเซีย ปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป เมื่อ ความตาย มิอาจพราก แถมค่าจัด งานศพ ที่สูงถึง 20 ล้านบาท
เรื่องราวของพิธีปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป เมื่อความตาย ที่ไม่ใช่การตายจากพิธีกรรมแปลกของชาวโตราจา หรือ ตอราจา หมู่บ้านแห่งหนึ่ง บนเกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ถูกถ่ายทอดโดย "มิ้นท์-มณฑล กสานติกุล" บล็อกเกอร์สาวนักเดินทาง เจ้าของเพจ I Roam Alone หรือ "มิ้น I Roam Alone" ซึ่งทำให้เราต้องค้นคว้าหาข้อมูล เกี่ยวกับพิธีกรรมสุดแปลกของชาวโตราจา ที่มีมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ผู้คนต่างเดินทางไปเพื่อสัมผัสกับเรื่องราวสุดหลอน ในพิธีปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป ภายใต้ร่างที่ไร้วิญญาณ
พิธีกรรมสุดแปลกนี้ เรียกว่า พิธีมาเนเน Ma’nene โดยปกติจะจัดขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ขึ้นอยู่กับแต่ละหมู่บ้าน โดยพวกเขาจะขุดศพ
ญาติที่เสียชีวิตไปแล้ว ขึ้นมาทำความสะอาดร่างกาย เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ ยกน้ำ อาหาร ถ่ายภาพ รวมทั้ง ยังมีการตั้งกระโถนไว้มุมห้องให้ผู้ตายได้เข้าห้องน้ำ เสมือนคนที่ยังมีชีวิตอยู่ อีกด้วย
จากนั้น ก็ฝังลงในหลุมศพเช่นเดิม เพื่อรอการจัดพิธีศพที่ยิ่งใหญ่ พิธีการเหล่านี้ เป็นการแสดงออกถึงความรักความผูกพัน ที่ชาวโตราจามีต่อบรรพบรุษ ตลอดจนความคาดหวังว่า พืชผลทางการเกษตรของพวกเขา จะออกผลผลิตที่งดงาม ด้วยความคุ้มครองจากวิญญาณของบรรพบรุษ ซึ่งกระบวนการที่ยังทำให้ศพอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด คล้ายกับทำมัมมี่ เพื่อรักษาสภาพของศพ เพราะฉะนั้น ยิ่งศพสภาพดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นมงคล เพราะแสดงว่าลูกหลานได้ดูแลใส่ใจการทำมัมมี่ศพเป็นอย่างดี
พิธีศพของชาวโตราจานั้น จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการแห่ศพไปรอบหมู่บ้าน มีการบูชายัญควายหลายตัว ซึ่งเชื่อว่าเป็นพาหนะนำคนตายไปยังสถานที่รอเกิดใหม่ เฉลิมฉลองกันอย่างเต็มที่นานหลายวันหลายคืนติดต่อกัน ทำให้เจ้าภาพงานศพมีค่าใช้จ่ายสูง ชาวโทราจาส่วนใหญ่จึงต้องเก็บศพไว้กับบ้านไปก่อน และใช้เวลาเก็บสะสมเงินทอง เพื่อให้พอจัดงานศพ ซึ่งอาจกินเวลานานหลายปี ดังนั้น พิธีศพ จึงเป็นสิ่งที่ชาวโทราจาให้ความสำคัญมาก หากคนในครอบครัวเสียชีวิต จะรักษาร่างไว้จนกว่าจะเก็บหอมรอบริบ จนมีเงินจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่
มิ้น I Roam Alone ถ่ายทอดว่า ในมุมอื่นของโลก พวกเราอาจจะทำงานเก็บเงินเพื่อแต่งงาน เพื่อซื้อรถ เพื่อมีบ้านสักหลัง มีลูกสักคน แต่ไม่ใช่ที่โตราจา เพราะที่นี่เงินที่หามาทั้งหมด จะถูกใช้เพื่อจัดพิธีศพให้กับคนในครอบครัว อย่างต่ำราว ๆ 5 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นพวกคนชั้นสูง อาจจะต้องจ่ายถึง 20 ล้านบาทเลยทีเดียว ชาวโตราจา บอกว่า ญาติคนไหนจะแต่งงาน ก็ต้องยกเลิกไปก่อน ส่วนใครจะแต่งงาน ก็ต้องคิดดี ๆ เพราะแต่งเข้ามาแล้วก็ต้องช่วยหาเงินมาจัดงานศพ
ทั้งนี้ ภายหลังพิธีศพ จะมีการเคลื่อนศพจากบ้านไปเก็บยังสุสานของครอบครัว หรือตามถ้ำ โดยจะไม่นิยมฝังศพลงดิน เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นหุบเขา บางครอบครัวที่มีฐานะ จะว่าจ้างช่างให้แกะสลักหุ่นไม้ที่เรียกว่า "เตา เตา" ซึ่งเป็นตัวแทนของคนตายไว้ด้วย โดยหุ่นนี้จะสวมเสื้อผ้าเครื่องประดับอย่างดี รวมทั้งสวมวิกที่ทำจากผมของผู้ตาย และจะมีการจัดเรียงให้หุ่นนั่งที่ด้านนอกของถ้ำ จ้องมองลงมายังลูกหลานที่เชิงเขาเบื้องล่าง
ศาสตราจารย์แอนดี้ ทันดี โลโล ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมตอราจา บอกว่า การปฏิบัติต่อคนตายเสมือนคนเป็นเช่นนี้ เป็นวิถีทางหนึ่งในการดำรงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่ยังอยู่และผู้ที่ตายไปแล้วการเก็บศพไว้ ให้ทุกคนได้มาร่ำรา คงเป็นสิ่งที่เยียวยาจิตใจของคนที่ยังอยู่ได้ดี เหมือนการตาย ไม่ใช่การหายไปอย่างเฉียบพลัน แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านทีละน้อยจากชีวิตสู่ความตาย
ช่วงแรก ๆ ที่พิธีกรรมสุดแปลกนี้ ปรากฏสู่สายตาชาวตะวันตก หลายคนตกใจและหวาดกลัว แต่ความแปลกและจริงจังของพิธีกรรม ทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติเดินทางเพื่อมาชม พร้อมร่วมพิธี ปลุกศพขึ้นมาถ่ายรูป
ขอบคุณภาพและข้อมูล I Roam Alone
BBC ไทย
เพื่อไม่พลาด ข่าวสารต่างๆ คมชัดลึก ไปที่
Youtube - https://www.youtube.com/channel/UCnniqWGq9lOqYd5sGWxVi7w
LineToday - https://today.line.me/th/v2/publisher/100057
เช็กรายชื่อศิลปินเข้าชิง "คมชัดลึก ลูกทุ่ง Awards 2565" ใครคือ 6 Candidate กับ 8 สาขา Popular Vote