ลาออกอีกราย ‘ครูสาว’ เผย 10 การเรียนรู้ที่ ‘โรงเรียน’ ไม่ได้สอน
เปิดบันทึก ‘ครูสาว’ เผยเหตุผล ‘ลาออกจากราชการ’ พร้อมเปิด10 การเรียนรู้ที่ ‘โรงเรียน’ ไม่ได้สอน ชี้ข้อคิด อย่าใช้ชีวิตด้วยความกลัว แต่จงใช้ชีวิตด้วยความหวัง ความฝัน แรงบันดาลใจ และชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2566 ข้าราชการครูท่านหนึ่ง เป็น “ครูสาว” ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กในชื่อบัญชี Mimi Supawadee โดยบอกเล่าเรื่องราวรวมถึงเหตุผลในการ ลาออกจากข้าราชการครู แม้แสนรักในวิชาชีพครู รวมถึงข้อคิดต่าง ๆ ที่โรงเรียนไม่ได้สอน พร้อมส่งกำลังใจให้ตัวเองและคนอื่น ที่กำลังเผชิญชีวิตในแบบนี้
บันทึก “ลาออกจากราชการ”
“ทำไมถึงลาออกทั้งที่เป็นงานที่มั่นคง”
คนถามเยอะแล้วลองเปลี่ยนเป็น
“ตอนทำงานประจำควบคู่กับรายได้เสริม จัดการเวลา ความรู้สึก ความคิด การลงมือทำยังไง “
(น่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆคนมากกว่า)
จะตอบคำถามแรกก่อน “ทำไมถึงลาออก”
1. หมดเเรง หมดเวลาในแต่ละวัน ไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิต เสาร์ อาทิตย์ มาโรงเรียน วนลูปแบบนี้ กับเอกสารที่มากมายก่ายกอง
2. ไม่สามารถสอนในเนื้อหาที่เด็กไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง แต่ใช้เพื่อสอบได้อีกต่อไป
3. และที่สำคัญที่สุด คือ ลูก อยากมีความทรงจำที่ได้ใช้ชีวิตกับลูก ก่อน 7 ขวบให้มากที่สุด เพราะเวลาที่เสียไปแล้วย้อนกลับมาไม่ได้
ส่วนคำถามที่ 2 นี่คือสิ่งที่ตกผลึกกับตัวเอง
10 การเรียนรู้ที่โรงเรียนไม่ได้สอน
1.สิ่งที่เคยมีความสุขตอนนั้น ถ้าตอนนี้ไม่ใช่ก็ต้องหยุด หยุดได้ไว เริ่มต้นใหม่ได้ไว
2.ความมั่นคงสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเรา ไม่เกี่ยวกับอาชีพ หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นการบริหารการเงินสำคัญมาก (แต่โรงเรียนไม่ได้สอน)
3.ทำในสิ่งที่มีความสุข สะสมไปเรื่อยๆ จนมีศักยภาพ เก่งในเรื่องนั้นๆ ขอให้รับรู้ไว้ เงินมาเอง (โรงเรียนไม่ได้สอนความสุขของแต่ละคนเป็นไง ความถนัดของแต่ละคนเป็นไง)
4.การบริหารจัดการเวลาสำคัญมาก เมื่อตัดสินใจที่จะลาออก ก็ต้องมีรายได้เสริมจากหลายช่องทาง ในวันที่เหนื่อย ท้อ งานเยอะไม่มีเวลา แต่มีใจ เชื่อเถอะยังไงก็รอด(มี่นอนไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกัน 3 ปี เพราะต้องการมีชีวิตในวันนี้)
5.มี mindset ที่ว่า “เงินเดือน”ที่มาจากงานประจำ คือ เงินชั่วคราว และไม่ได้จบแค่นี้ ศักยภาพของเรามีมากกว่านี้ ดึงออกมามากเท่าไหร่ เงินเข้ามามากเท่านั้น
เมื่อเรารู้จักตัวเองมากพอ เราจะรู้ว่าศักยภาพของเราคืออะไรสิ่งนี้โคตรสำคัญ
มี mindset ที่ว่า งานประจำคือเงินชั่วคราว เมื่อเจองานที่ชอบ ให้ผลตอบแทนที่ใช่ และมีรายได้มากกว่างานประจำเมื่อไหร่ ลาออกทันที
6.เมื่อรายได้เสริม มากกว่าหรือเท่ากับงานประจำติดต่อกัน 3 เดือน คือโคตรพร้อมที่จะออกแล้ว
แต่ทำควบคู่ไปก่อน เพราะต้องบริหารการเงินให้อยู่รอดปลอดภัย ใน 6 เดือน -1 ปี (ซึ่งเป็นช่วงเวลาลองถูกลองผิดกับสิ่งใหม่)
7. บริหารเวลาสำคัญแล้ว บริหารการเงินสำคัญมากเช่นกัน วางแผนรองรับให้ครอบคลุม เงินออม เงินฉุกเฉิน เงินสำรอง ประกันสุขภาพ รายจ่ายคงที่ รายจ่ายไม่คงที่ (พวกนี้โรงเรียนควรสอน ว่าม่ะ)
8. ความล้มเหลวที่ยิ่งใหญ่ คือการไม่เริ่มต้น วันนี้ถ้ายังไม่เคยทำอะไรใหม่ๆ ทำเลยลองเลย ไม่งั้นจะรู้ได้ไง ทุกอย่างไม่มีล้มเหลว มีแต่เรียนรู้ และลงมือทำ ซ้ำๆ
9. ตั้งเป้าหมายให้ชัด ว่าเราต้องการอะไรกันแน่ในชีวิตนี้ แล้วโฟกัสในแต่ละช่วงเวลา ทำมันไปเรื่อยๆ
10.หลายครั้งเราทำอะไรกับชีวิตเพื่อต้องการเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับ ทำให้ผู้อื่นจนหลงลืมตัวเอง
ตรงนี้ต้องบอกว่า กว่าครอบครัวเข้าใจในเรื่องการลาออก ใช้เวลานานพอสมควร ฉะนั้น เราต้องทำให้เห็นให้ได้ว่าการเป็นตัวเองที่มีความสุขมันดีกว่าการที่ครอบครัวเลือกให้เป็นยังไง (และเขาก็ไม่ได้ผิดอะไรในตอนนั้น )
พอมาถึงตรงนี้ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจอะไรในตัวเอง ครอบครัวก็เคียงข้างและภูมิใจกับเราเสมอ สิ่งสำคัญ คือ กลับมารู้จักตัวเองให้ได้(โรงเรียนไม่ได้สอน สอนแค่ต้องเป็นในแบบที่สังคมอยากให้เป็น)
สุดท้ายนี้
อย่าใช้ชีวิตด้วยความกลัว แต่จงใช้ชีวิตด้วยความหวัง
ความฝัน แรงบันดาลใจ และชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
บรรจุข้าราชการครู 15 สิงหาคม 2559
ลาออกจากราชการมีผล 1 มิถุนายน 2566
ขอเป็นกำลังใจให้ตัวเองและทุกคนที่กำลังอยู่ในเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน
‘ครูสาว’ รายนี้ไม่ใช่รายแรก และไม่ใช่รายสุดท้ายที่โบกมือ ‘ลาออก’ จากข้าราชการครู วิชาชีพที่จัดได้ว่ามีความมั่นคงสูง และเป็นที่หมายปองของบัณฑิตครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ดูจากจำนวนยอดผู้สมัครสอบครูมีหลักแสน แต่ต้องการอัตราเพียงหลักร้อย เท่านั้น