'หมอ' เล่านาทีสำคัญ 8 ปีที่รอคอย พิชิต 'ยอดเขาเอเวอเรสต์'
'หมอกุ๊กไก่' เล่าไทม์ไลน์ นาทีสำคัญ เฉียดตาย 8 ปีที่รอคอย ก่อนเป็น คนไทยคนที่ 5 และ หญิงไทยคนที่ 2 พิชิต 'ยอดเขาเอเวอเรสต์'
การพิชิต “ยอดเขาเอเวอเรสต์” ถือเป็นหัวใจของนักปีนเขา ที่ครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องเป็นผู้พิชิตยอดเขา “เอเวอเรสต์” แต่เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า การขึ้นไปบนยอดเขาเอเวอเรสต์ ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนทำสำเร็จ แต่หลายร้อยคน ต้องตายอยู่อย่างเดียวดายบนยอดเขา
เช่นเดียวกับ หมอกุ๊กไก่ มัณฑนา ถวิลไพร หมอ ที่รักการปีนเขาเป็นชีวิตจิตใจ และใช้ความเพียรพยายามมาตลอด 8 ปี ที่จะพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในที่สุดเธอก็ทำสำเร็จ และถือเป็นคนไทยคนที่ 5 และเป็นหญิงไทยคนที่ 2 ที่ไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ ซึ่ง หมอกุ๊กไก่ ได้บอกเล่าประสบการณ์ ที่เฉียดตายไว้อย่างละเอียด
จุดเริ่มต้นพิชิต ยอดเขาเอเวอเรสต์
หมอกุ๊กไก่ เล่าว่า การปีนเขาเอเวอเรสต์ เป็นความพยายามครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 และครั้งที่สองในเดือน พ.ค. 2566 ที่สามารถเดินทางไปจนสุดทางเชือก เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 นับเป็นความฝัน ความหวัง ความตั้งใจ ที่พยายามทำมาตลอด 8 ปี
การพิชิต ยอดเขาเอเวอเรสต์ ครั้งแรก ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อขึ้นไปถึง 8,217 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และต้องตัดสินใจกลับลงมารอที่ South Col เนื่องจากสภาพอากาศ (แต่เมื่อกลับลงมากลับเจอลมแรงระดับ Strong Gale, 47-54 mph) เป็นผลให้อาหาร high altitude, เต็นท์ และอุปกรณ์ปีนเขาปลิวไป ส่งผลให้การปีนต้องยุติลงในปีนั้น
จากนั้นในปี 2566 หมอกุ๊กไก่ ได้เปลี่ยน strategy ในการปีน จากการจ้างไกด์เชอร์ปาอิสระ มาเป็นบริการของบริษัทใหญ่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่น ถ้าเกิดปัญหา จะมีเชอร์ปาในทีมมากขึ้น มีกระป๋องออกซิเจนสำรอง เป็นต้น
ไทม์ไลน์การพิชิต “ยอดเขาเอเวอเรสต์”
- 2 เม.ย. 2566 เดินทางถึงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงแห่งนี้ มีความสูงประมาณ 1300-1400 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยพักที่กาฐมาณฑุ 2 คืน พอให้หายเหนื่อยจากการเดินทาง
- 4 เม.ย. 2566 เดินทางจากกาฐมาณฑุไปนัมเชบาซ่า (3,440 เมตร) โดยเฮลิคอปเตอร์ มีอาการปวดศีรษะเล็กน้อย และอ่อนเพลียจากความสูง หลังจากนั้น จึงเริ่มการเดินเท้าโดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม เลี้ยวขวาไปทางดิงโบเช (ทางค่อนข้างราบ) หมอกุ๊กไก่ เลือกเลี้ยวซ้ายไปลุมเด (ทางชันและขึ้นลงมากกว่า) เพราะต้องการปรับตัวกับความสูง (acclimatization)
- ปีนยอดเขาโลบุเชตะวันออก (Lobuche East, 6119 m) เพื่อเป็นการปรับตัวเข้ากับความสูง ภูเขาโลบุเชปีนสนุกมาก เหตุผลหนึ่งคือปีนตอนหิมะตกหนัก ทำให้ slab หินด้านล่างปีนได้ง่ายขึ้น โดยไม่รู้เลยว่าหิมะหนานุ่มปีนี้ จะเป็นสัญญาณของหายนะที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การปีนเขาเอเวอเรสต์
- เดินทางสู่เอเวอเรสต์ เบสแคมป์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า EBC (Everest Base Camp) ซึ่งมีความสูงประมาณ 5,364 เมตร ซึ่งแคมป์อยู่ห่างจากก้อนหินที่นิยมถ่ายรูปกันประมาณหนึ่งกิโลเมตรครึ่งตามทางราบ
- Base Camp เป็นเสมือนความศิวิไลซ์สุดท้ายก่อนขึ้นสู่ทางปีน มีครัว เต๊นท์ห้องอาหาร หรือแม้แต่คาเฟ่ มีเครื่องปั่นไฟและแผงโซลาร์เซลล์ มีห้องสุขาและห้องอาบน้ำ สะดวกสบาย
- เอเวอเรสต์ เบสแคมป์ ตั้งอยู่บนธารน้ำแข็งคุมบู ปัจจุบันมีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร
- ด้วยปี 2566 มีเชอร์ปาเสียชีวิต 3 คน ตั้งแต่ต้นฤดูจากธารน้ำแข็งคุมบูถล่ม (12 เม.ย.) ทำให้เชิร์ปาหลายคนถอนตัวจากการปีนในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากหมู่บ้านเดียวกันกับเชอร์ปาที่เสียชีวิต ทำให้หลายบริษัทเกิดวิกฤตขาดแคลนเชอร์ปา (ชาวเชอร์ปาที่มาช่วยลูกค้าปีนเรียกว่า Climbing Sherpa, เรียกสั้นๆ เชอร์ปา)
- 25 เม.ย. 2566 เริ่มโรเตชั่น (rotation) ซึ่งถือว่าช้าเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ทั้งความก้าวหน้าของการตรึงเชือก (fixed rope) ความเร็วลมสูง หิมะตกหนัก ระหว่างนี้ก็จะปีนไปปรับตัวที่หน้าโลตเซ่ (Lhotse Face, 6500 m) และกลับมาที่เบสแคมป์ 29 เม.ย.
- หลังจากการโรเตชั่น นักปีนต่างชาติมักลงไปที่แอลติจูดต่ำ เพื่อให้ร่างกายเกิดการฟื้นตัวจากภาวะขาดออกซิเจน เทรนด์ในปัจจุบันรวมถึงการนั่งเฮลิคอปเตอร์ไปนัมเช บาซาร์ ลุคลา หรือแม้กระทั่งกาฐมาณฑุ แต่หมอกุ๊กไก่ เลือกอยู่ที่เบสแคมป์มากกว่า (ไม่อยากเสียเงินเพิ่ม เบสแคมป์ก็อยู่สบายดี) และอยากจะฝึกร่างกายต่อ โดยการเดินเขาขึ้นพูโมรี ไฮ แคมป์ (Pumori High Camp ~5700 m) แต่สุดท้ายก็ติดไข้หวัดที่ระบาดอยู่ในเบสแคมป์ (และแคมป์ 2) ในขณะนั้น มีไข้สูง อ่อนเพลีย จึงตัดสินใจเดินทางไปพักที่กาฐมาณฑุโดยเฮลิคอปเตอร์ และเที่ยวบินพาณิชย์จากลุคลา
- จากนั้น รีบเดินทางกลับ โดยเฮลิคอปเตอร์ โดยคราวนี้ลงที่หมู่บ้านดิงโบเช (Dingboche, 4400 m) แล้วเดินขึ้นเบสแคมป์ภายใน 2 วัน ที่เบสแคมป์ทีมที่ขึ้นไปตรึงเชือกสำหรับการปีนเขา ยังไม่สามารถตรึงเชือกได้สำเร็จ จากสภาพอากาศหนาวจัด ลมแรง หิมะตกทุกวัน แต่ก็มีนักปีนหลายท่าน ที่ขึ้นไปรอบนแคมป์สูงแล้ว เพื่อรอปีนหลังจากการตรึงเชือกสำเร็จ
หลายคนถอดใจ แต่สุดท้ายก็ถึงคิว
- ด้วยสภาพอากาศอันเลวร้าย ทำให้มีนักปีนเขา ถูกอันตรายจากความเย็นจัด (Frostbite) จำนวนมาก และมีนักปีนเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อนร่วมทีมบางคนถึงกับขวัญหนีดีฝ่อ โรงพยาบาลในเบสแคมป์เต็มไปด้วยคนป่วย มีการอพยพผู้บาดเจ็บทางอากาศ จากทั้งแคมป์สูงและเบสแคมป์มากกว่าปีใดๆ (มากกว่า 200 เที่ยวบินเหนือเบาแคมป์)
- บ่ายวันหนึ่งเจ้าของบริษัททัวร์ มาบอกว่า ถึงคิวขึ้นเป็นทีมสุดท้ายของปีนี้ คุณหมอเขียนว่า “โอเค…ฉันบ่ยั่นดอก” โดยที่ไม่รู้ว่าจะปีนคู่กับเชอร์ปาคนไหน
- 20 พ.ค. 2566 น้ำตาไหล เมื่อถุงนอนกับแผ่นรองนอน หายไปจากเต๊นท์ แคมป์ 1 (6000 m) บนเอเวอเรสต์คือความหนาวจัดบนหิมะ ท้องฟ้าเริ่มมืด ต้องนั่งอยู่บนพื้นเย็นเฉียบ ไหนจะต้องรอแล้วรออีกแบบแทบไม่มีความหวัง พอขึ้นมาที่นอนก็หาย แล้วพ่อครัวยังเอาถุงใส่ครีมกันแดด ผ้าอนามัย ทิชชู่ แปรงสีฟันของดิฉันใส่เฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปแคมป์ 2 อีก คืนนี้คือ….ไม่เหลืออะไรเลย
- 21 พ.ค. 2566 สมาชิกลูกทัวร์ รวมตัวกันไม่กินอาหารเช้า เพราะไม่มีอะไรให้กินแล้ว ออกเดินทางขึ้นสู่แคมป์ 2 ผ่านเวสเทิร์น คูม (Western Cwm) เจ้าของบริษัทก็วิทยุมา บอกใครใช้เวลาเกิน 4 ชั่วโมงไม่ถึงแคมป์ 2 จะไม่ให้ไปต่อ ถึงแคมป์ 2 ตามแผนเดิม จะพักที่นี่ 2 คืนเพื่อพักร่าง แต่บริษัท วิทยุมาบอกว่า พรุ่งนี้ขึ้นแคมป์ 3 ไปเลย
- 22 พ.ค. 2566 มีการจับคู่กับไกด์ตัวจริงที่จะพาขึ้นยอดและทดสอบอุปกรณ์ให้ออกซิเจน เราเดินทางต่อบนธารน้ำแข็งส่วนค่อนข้างราบ เรียกว่าเวสเทิร์น คุมจนมาถึงหน้าโลตเซ่ (6500 m) ซึ่งเป็นกำแพงน้ำแข็ง ซึ่งบางครั้งมีความชันถึง 80 องศาฯ ปีนขึ้นมาที่แคมป์ 3 (7300 m)
- 23 พ.ค.2566 เริ่มปีนผ่านแคมป์ 4 ของ Lhotse เส้นทางจากแนวดิ่งก็กลายเป็น traverse ไปทางซ้าย เบื้องหน้ามีกลุ่มคน 7-8 คน กำลังลำเลียงอะไรบางอย่างลงมาตามระบบ fixed rope ส่งเสียงแกร๊งๆ เมื่อกระทบกับผาหิน เมื่อเข้าใกล้จึงเห็นว่าเป็นถุงนอนบรรจุร่างคน แขนสองข้างลู่ขึ้นตามหิมะ มือทั้งสองเปล่าเปลือยและเป็นสีม่วงเข้ม แม้จะคุ้นเคยกับศพและคนตายมามาก แต่ก็เป็นครั้งแรกที่เห็นศพนักปีนเขา ที่เพิ่งเสียชีวิตไม่นานนัก ใจเสียมากๆ
- 24 พ.ค. 2566 เริ่มปีนจากแคมป์ 4 ซึ่งเส้นทางแทบจะเป็นผาหิมะแนวตั้ง (ปีก่อนเป็นน้ำแข็ง) เลยระดับ 8,200 เมตร ที่เป็นจุดมืดบอดในใจมาแล้ว จนกระทั่งประมาณ 8,300 เมตร มีอาการผิดปกติกับร่างกาย คำนวณเวลาและแรงแล้วเกรงว่าจะปีนไม่ทันระยะความปลอดภัย จึงพยายามปีนต่อโดยกระดิกนิ้วมือและนิ้วเท้า เพื่อสร้างความอบอุ่นที่ส่งนปลาย แต่ก็รู้สึกได้ว่าแม้แต่อุณหภูมิแกนกลางตกลงบ้างแล้ว
- สุดท้ายเกิดเรื่องน่าตกใจขึ้น เมื่อเธอเพิ่งรู้ตัวว่า ปีนกำเชือกอยู่บนกำแพงหิมะ 8,450 เมตร เพียงลำพัง ซึ่งถือว่าอันตรายมากที่นักปีนสมัครเล่น จะปีนโดยไม่มีเชอร์ปาซัพพอร์ต จึงเริ่มลังเล เพราะน้ำดื่มก็ไม่มี เหลือเจลพลังงานแค่ 3 ซองในกระเป๋าเสื้อ กับขนมนิดหน่อย นักปีนบางคนในทีมถอนตัวลงไปแล้ว เพราะลมจากเขาด้านซ้าย ทั้งหนาวรุนแรงและพัดเอาผลึกหิมะมากระแทกเกือบจะตลอดเวลา
เกือบถอดใจเมื่อมองไม่เห็น
- หลังจากเจอ Szilárd Suhajda นักปีนเขาชาวฮังการี ที่พยายามปีนยอดเขาเอเวอเรสต์โดยไม่ใช้ออกซิเจนและไม่ทีเชิร์ปาซัพพอร์ต นั่นคือครั้งสุดท้ายที่มีใครเห็นนักปีนคนนี้ เชอร์ปาในทีมเราเชื่อว่าเขาน่าจะตกลงไปจากบริเวณที่นั่งอยู่ ตาของหมอกุ๊กไก่ เริ่มไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีขาวได้ จนเริ่มรู้สึกว่าความฝันที่จะไปให้ถึงยอดเอเวอเรสต์ในปีนี้ คงเป็นไปไม่ได้แล้ว ในเมื่อไม่เห็นแม้แต่ทางปีน
- แต่สุดท้าย สุมาน กูรุง ช่างภาพภูเขาชื่อดัง ก็โผล่มาช่วยเธอ เพราะนอกจากเขาจะถ่ายวิดิโอ บินโดรนบนยอดเขาแล้ว เขายังชอบการฟิกเชือกเป็นชีวิตจิตใจ ในปีนี้เขาก็เป็นทีมฟิกเชือกไปจนถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ เขารู้ทางดี และภายในไม่ถึง 15 นาที เขาก็ได้ประกาศว่า “เรามาถึงยอดเขาแล้ว” มันคือ 8848.86 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลมาตรฐาน จุดที่สูงที่สุดในโลก
- แม้จะมาถึงด้วยความทุลักทุเลและด้วยเทคโนโลยี กระป๋องออกซิเจน เชอร์ปาซัพพอร์ต และเชอร์ปาที่หนีไป ถึงกับน้ำตาไหลออกมา ณ วันนั้น มีผู้ถึงยอดเขาจำนวน 3 คน กลายเป็นเวลาที่บันทึกไว้คือ 8 นาฬิกา 15 นาที ตามเวลาท้องถิ่นประเทศเนปาล ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 1 ชั่วโมง 15 นาที
- แต่หลังจากนั้น หมอกุ๊กไก่ มีสภาวะ snow blindness แทบจะมองไม่เห็นอะไรแล้ว ถ้าไม่ลงด้วย rappelling technique นั่นหมายถึงจะต้องตาย หรือถูกทิ้งให้ตายอยู่บนนี้ เหมือนที่พบได้บ่อยๆ ในการปีนเขาสูง หรืออาจหลุดจากเชือก หลงทาง ตกลงไปตาย ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ สุดท้าย ทุกคนตัดสินใจช่วยพาลงด้วย rappel แม้จะต้องเสี่ยงแลกด้วยชีวิตของตัวเอง ด้วยออกซิเจนจำกัด ต้องแข่งกับเวลาในเขตแดนของความตาย
- หมอกุ๊กไก่ ถูกส่งตัวไปรักษา ที่โรงพยาบาลในกาฐมาณฑุ และกลับมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ 5 วัน แล้วจึงย้ายมารักษาต่อที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น บ้านเกิด จนถึงปัจจุบัน ยังรักษาต่อเนื่อง ด้วยการบำบัดด้วยออกซิเจนแรงดันสูง ยาฉีด และยารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาเท้าไว้ให้ได้มากที่สุด
ทั้งนี้ ภูเขาเอเวอเรสต์ คือภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่สุดในโลก คือ 8,848.86 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล สูงประมาณระดับเครื่องบินพาณิชย์บิน มีชื่อในภาษาถิ่นทิเบตคือโชโมลุงม่า ภาษาถิ่นเนปาล Sagarmāthā
เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (29 พ.ค.1953) ยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตโดยมนุษย์เป็นครั้งแรกโดย เซอร์ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี่ ชาวนิวซีแลนด์ (Sir Edmund Percival Hillary) และ เทนซิง นอร์เกย์ ชาวเชอร์ปา (Tenzing Norgay)
ขอบคุณข้อมูลและภาพ : หมอกุ๊กไก่ จากเพจ Montana Twinprai