เด่นโซเชียล

‘หมอ’ โอด ‘หยุดยาว 6 วัน’ คุ้มมั๊ยกับชีวิตคนไข้ ลั่น ‘อย่าคิดแต่สั่งให้หยุด’

‘หมอ’ โอด ‘หยุดยาว 6 วัน’ คุ้มมั๊ยกับชีวิตคนไข้ ลั่น ‘อย่าคิดแต่สั่งให้หยุด’

25 ก.ค. 2566

เพจ หมอหนุ่ม หนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ โพสต์ข้อความ ไม่เห็นด้วย ครม. เคาะ วันหยุดยาว เพิ่มอีก 1 วัน เดือนกรกฎาคม 2566 รวม 6 วัน ถามคุ้มมั๊ยกับชีวิตคนไข้ ที่ต้องเลือกผ่าตัดออกไปอีก 3 เดือน ลั่นอย่าคิดแต่สั่งให้หยุดก็หยุด

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระที่น่าสนใจเข้าสู่การประชุม ครม.รักษาการหลายวาระ ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอการกำหนด“วันหยุดราชการกรณีพิเศษ” ประจำปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวของประชาชนและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ซึ่ง ที่ประชุม ครม. เคาะวันหยุดเพิ่มอีก 1 วัน เดือนกรกฎาคม 2566 มี วันหยุดยาว 4 วัน ต่อเนื่อง วันหยุด เดือนสิงหาคม รวม หยุดยาว 6 วันนั้น

 

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก ที่เป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ อย่าง ‘เพจ หมอหนุ่ม’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ถึงเรื่องมาตรการ หยุดยาว 6 วันของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ดังกล่าวมีใจความระบุว่า

 

..ผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

กับการประกาศวันหยุดเพียง 6 วันก่อนที่จะถึงวันนั้น

มันมีราคาที่ต้องจ่ายกับสิ่งนี้มากมายนะครับ

ราคาที่ว่าไม่ใช่ราคาตัวเงิน

แต่มันเป็นราคาของชีวิตคนไข้

และราคาของชีวิตคนทำงานครับ

 

1. ผมมีนัดคนไข้ผ่าตัดไว้เรียบร้อยแล้วในวันที่ 31

และคนไข้เหล่านี้คือคนไข้มะเร็งที่ผมนัดผ่าตัดมาเดือนกว่า

และตอนนี้คิวผ่าตัดมะเร็งผมอยู่ที่เดือนกว่าๆ

นั่นหมายความว่าถ้าวันจันทร์นี้ผมผ่าตัดไม่ได้

ผมก็ต้องเลื่อนการผ่าตัดไปอีกเดือนกว่า

เพราะผมไม่สามารถเอาคนไข้คนนี้ไปแทรกคนไข้คนอื่นที่นัดผ่าตัดไว้แล้วได้

มันส่งผลเสียต่อคนไข้และระบบการนัดคนไข้อย่างมากนะครับ

ไม่รวมคนไข้โรคธรรมดาที่วันนั้นผมก็นัดผ่าตัดเช่นกัน

ซึ่งก็นัดไว้ตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว เพราะคิวผมอยู่ที่ 3 เดือนโดยประมาณ

ดังนั้นถ้าวันจันทร์นี้ผ่าตัดไม่ได้ ผมก็ต้องเลื่อนเขาออกไปอีก 3 เดือน

นั่นคือเขาจะได้ผ่าตัดอีกทีเดือนตุลาคม

เพราะจากนี้ถึงตุลาคม ผมก็มีคนไข้อยู่เต็มตารางอยู่แล้ว

คุณไม่คิดถึงผลกระทบกันเลยครับ

คิดจะหยุดก็หยุด

แล้วมันจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า

 

 

2. คราวนี้ความลำบากก็จะอยู่ที่ห้องฉุกเฉินแน่นอนครับ

เพราะแค่วันธรรมดานอกเวลาราชการ

ก็จะมีคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน แต่มาฉุกเฉินมากพออยู่แล้ว

คราวนี้มันก็จะมีคนไข้ที่ยาหมดที่วันนัดวันนั้นพอดี

คนไข้ที่นัดไว้วันนั้น แต่ติดต่อเลื่อนนัดไม่ได้

และก็มาโรงพยาบาลวันนั้นแล้ว

เขาก็ต้องหาทางเพื่อจะได้รับการรักษา

และห้องฉุกเฉินก็คือช่องทางนั้นครับ

เว้นเสียแต่โรงพยาบาลสร้างช่องทางเพิ่ม

เพื่อ “วิกฤต” ในครั้งนี้

ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่อีกเช่นกัน

เพราะเจ้าหน้าที่ก็คนหนึ่งคนเหมือนกัน

เขาก็วางแผนชีวิตของเขาไว้เช่นกัน

 

3. ตอนนี้ผมเชื่อว่าคนที่หัวหมุนมากที่สุด

คือคนที่โทรประสานงานเพื่อเลื่อนนัดคนไข้ครับ

มันไม่ใช่คนไข้จำนวนน้อยๆนะครับ

มันเป็นคนไข้นัดหลายร้อยคนในหนึ่งโรงพยาบาล

และโรงพยาบาลในประเทศไทยก็มีเป็นพันโรงพยาบาล

มันส่งผลกระทบมากมายอย่างไม่น่าเชื่อเลยละครับ

 

4. คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนไข้ครับ

คนไข้ที่ต้องถูกเลื่อนผ่าตัด

ก็ต้องได้รับการรักษาที่ช้ากว่าเดิน

คนไข้ที่อยู่ในบ้านอยู่ในชนบทห่างไกลเมือง

บางครั้งก็ติดต่อเขาไม่ได้ และเขาก็ต้องเหมารถมาเป็นเงินหลายพันบาท

เพื่อมาพบว่า... เขาไม่สามารถได้รับการตรวจกับหมอ เพราะวันนั้นเป็นวันหยุด

คนไข้กลุ่มนี้มีอยู่จริงนะครับ

แม้คุณจะบอกว่าเทคโนโลยีการสื่อสาร และข่าวคราวตามสื่อก็ออกข่าวเรื่องนี้มากมาย

แต่เขาก็ไม่รู้เรื่องนี้ครับ

และก็จะมาโรงพยาบาลตามนัดหมายอยู่ดี

อย่าคิดแต่จะสั่งให้หยุดก็หยุดครับ

มันมีราคาที่ต้องจ่ายอีกมากมายครับ

อาจจะมากมายกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจของคุณอีก

คิดได้ไง!

 

‘หมอ’ โอด ‘หยุดยาว 6 วัน’ คุ้มมั๊ยกับชีวิตคนไข้ ลั่น ‘อย่าคิดแต่สั่งให้หยุด’