เด่นโซเชียล

เตือนภัย ระวัง 'ไฟรั่วไฟดูด' จากหม้อไฟฟ้า ทำอาหาร เปิด 5 วิธีป้องกันอันตราย

เตือนภัย ระวัง 'ไฟรั่วไฟดูด' จากหม้อไฟฟ้า ทำอาหาร เปิด 5 วิธีป้องกันอันตราย

09 ส.ค. 2566

เพจดัง เตือนภัย ระวัง 'ไฟรั่วไฟดูด' จาก หม้อไฟฟ้า ทำอาหาร หลังมีคลิป ไฟรั่ว เปิด 5 วิธีป้องกันอันตราย และ ข้อควรระวังที่ควรรู้

เพจดัง อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ โพสต์เตือนภัย ระวัง 'ไฟรั่วไฟดูด' จากหม้อไฟฟ้าทำอาหาร ภายหลังมีคลิป "คนถูกหม้อไฟฟ้าดูด จนมือสะบัดช้อนปลิว ขณะรับประทานสุกี้" ว่าต้องระมัดระวังอย่างมากในการ หม้อไฟฟ้า ว่ามี ไฟรั่ว หรือไม่ ซื้อของมีมาตรฐานมาหรือเปล่า รวมถึงการตรวจดูระบบไฟฟ้าในบ้านด้วย

 

 

ซึ่งได้มีผู้ใช้ TikTok ท่านหนึ่ง melda2504 ได้โพสต์คลิปวิดีโอเพื่อเตือนภัย เป็นคลิปขณะกำลังนั่งรับประทานสุกี้อยู่ ซึ่งมี หม้อไฟฟ้า เสียบปลั๊ก ใส่น้ำซุป พร้อมกับน้ำจิ้มและผักกับเนื้อสัตว์วางอยู่ข้างๆ ระหว่างนั้นได้ใช้ช้อนสเตนเลส ตักน้ำซุปที่อยู่ในหม้อ แต่กลับต้องสะบัดช้อนทิ้งอย่างรวดเร็ว คล้ายกับถูก ไฟดูด หลังโพสต์ดังกล่าวได้เผยแพร่ มีชาวเน็ตเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก

 

เหตุการณ์ทำนองเกิด ไฟรั่ว ขึ้นกับ เครื่องใช้ไฟฟ้า ประเภท หม้อไฟฟ้า กะทะไฟฟ้า หรือเตาไฟฟ้านั้น มีรายงานอยู่เรื่อยๆ บางครั้งก็ผู้ใช้ก็รู้ตัวล่วงหน้าเนื่องจากลองใช้ "ไขควงวัดไฟฟ้า" จิ้มตรวจสอบ แต่หลายครั้งก็เป็นประสบการณ์ตรงจากการที่ถูกไฟฟ้าซึ่งรั่วมานั้น ดูดเอาจนทำให้มือชา บาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต ก็มีมาแล้ว 

 

ปัญหา ไฟรั่ว ที่เกิดขึ้นนี้ หลักๆ มักมาจากการที่ไม่ได้มีการต่อ "สายดิน" ทั้งในที่พักอาศัยและที่ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ไฟฟ้าที่อาจจะรั่วออกมานั้นไม่ถูกนำออกไปลงสู่ดินอย่างที่ควร / ขณะที่ตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง ก็ยังอาจจะเกิดการเสื่อมสภาพของพวกฉนวนและสารที่ใช้เคลือบภายใน ทำให้ไฟฟ้ารั่วได้ / บางครั้งก็เกิดจากการที่นำไปล้างทำความสะอาด แล้วไม่ตากให้แห้งสนิทก่อนที่จะนำมาใช้งาน รวมถึงผู้ใช้เองที่มือไม้เปียกน้ำ ทำให้อาจจะได้รับอันตรายจากไฟรั่วได้ง่ายขึ้น

 

สำหรับแนวทางในการป้องกันอันตรายจากการถูกไฟฟ้าที่รั่วมากับ หม้อไฟฟ้า ดูดเอานั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เลยขอเอาข้อมูลวิธีการป้องกันอันตรายจากไฟรั่วไฟดูดมาเสริม ดังนี้ 

 

ไฟรั่ว คือการที่กระแสไฟฟ้ารั่วไหลจากวงจรไฟฟ้าไปสู่ภายนอก เช่นผิวของสายไฟหรือโครงโลหะของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า หากสัมผัสอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 

 

เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน การขาดการตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้งานที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงการเสื่อมสภาพของฉนวนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้มาเป็นเวลานาน 

 

ซึ่งจุดที่เกิดกระแสไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้าไหลจนเกิดความร้อนขึ้น และหากความร้อนสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติด ไฟจนเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ได้

 

ไฟดูด เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าหรือกับสายไฟที่มีการรั่ว ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายและลงสู่พื้นดิน ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง อาจส่งผลให้หัวใจทำงานผิดจังหวะ และเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุด 

 

สาเหตุของไฟดูดเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด ทำให้มีกระแสไฟรั่วออกมา เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าดูดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำคือตัดกระแสไฟฟ้าให้เร็วที่สุดโดยการถอดปลั๊ก ปิดเมนสวิตช์ ปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

 

 

วิธีป้องกันอันตรายจากไฟรั่วไฟดูด

 

1. ติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน : สายดินมีความสำคัญ และเป็นมาตรการหลักในการช่วยป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่อาจรั่วไหลจากเครื่องใช้ไฟฟ้า จะไหลลงดินผ่านทางสายดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของเรา

 

2. ตรวจเช็คมิเตอร์ไฟฟ้า : ในเบื้องต้น คุณสามารถทดสอบมิเตอร์ไฟฟ้าเพื่อให้แน่ใจอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยการปิดสวิตช์ไฟทุกจุด รวมทั้งถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ออกให้หมด แล้วจึงตรวจเช็คมิเตอร์ที่หน้าบ้าน ว่าเฟืองเหล็กยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่ แสดงว่ามีกระแสไฟรั่ว ให้รีบติดต่อช่างไฟเพื่อแก้ไขโดยด่วน

 

3. ตรวจเช็คโดยใช้ไขควงวัดไฟฟ้า : ใช้ไขควงวัดไฟฟ้า แตะที่ตัวโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า หากมีแสงไฟในด้ามไขสว่างขึ้น แสดงว่ามีไฟฟ้ารั่ว ให้หยุดใช้งานในทันที

 

4. ตรวจเช็คสายไฟฟ้า : ตรวจว่ามีส่วนใดชำรุดเสียหายหรือไม่ หากพบให้รีบเปลี่ยนใหม่ โดยเฉพาะสายไฟที่ซ่อนอยู่บนฝ้าเพดานที่อาจเปื่อยตามอายุการใช้งาน หรืออาจหนูกัดแทะฉนวนจนสายขาดได้ (ในกรณีที่ไม่ได้หุ้มสายไว้ด้วยท่อร้อยสายไฟ)

 

5. ตรวจเช็คเต้ารับไฟฟ้า : ดูว่าหลวม มีรอยแตกร้าว หรือรอยไหม้บ้างหรือไม่ ถ้าเต้ารับหลวม ก็ขันสกรูให้แน่นดังเดิม แต่ถ้ามีการแตกร้าวหรือพบรอยไหม้ ก็ควรเปลี่ยนใหม่ และควรทดสอบเต้ารับทุกจุด ว่ามีไฟหรือเปล่า โดยสามารถใช้ไขควงวัดไฟแตะทดสอบ

 

 

ข้อควรระวัง

 

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือวงจรไฟฟ้า ในขณะที่ร่างกายเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนที่เปียกแฉะ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นโลหะของอุปกรณ์ไฟฟ้า 
  • หากจำเป็นต้องสัมผัส ให้ใช้วัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้าปูพื้น เช่น แผ่นไม้แห้ง, แผ่นยาง, แผ่นพลาสติค และหากสงสัยว่ามีไฟรั่ว ให้ใช้ไขควงเช็คไฟ ตรวจสอบจุดที่สัมผัสก่อน
  • ไม่ควรประมาท เพราะหากไฟรั่วเกิน 30 มิลลิแอมป์ขึ้นไป อาจทำให้ร่างกายได้รับบาดเจ็บรุนแรง และเสียชีวิตได้
  • ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่ว หรือเครื่องตัดไฟรั่ว ที่สามารถตัดวงจรอัตโนมัติเมื่อมีค่ากระแสไฟรั่ว 10 มิลลิแอมป์ และ 30 มิลลิแอมป์ สำหรับใช้ป้องกันไฟดูดแก่ผู้อยู่อาศัย และป้องกันไฟรั่วของอุปกรณ์ไฟฟ้า