สรุป '#หมูกระทะ' ดราม่าร้อน หมออ๋อง รองประธานสภาฯ ใช้ งบรับรอง เลี้ยง แม่บ้าน
สรุปประเด็น ดราม่าร้อน '#หมูกระทะ' หมออ๋อง รองประธานสภาคนที่ 1 สายเปย์ ใช้งบรัฐ เลี้ยง แม่บ้าน รัฐสภา เหยียบ 1 แสนบาท
กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อน จนขึ้นเทรน X (ทวิตเตอร์) #หมูกระทะ ภายหลัง “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เลี้ยง “หมูกระทะ” แม่บ้านสภา จำนวน 370 คน ที่ร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งย่านบางโพ จนเกิดกระแส ใช้งบรับรองที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งรองประธานสภา จนทั้ง #หมออ๋อง และ #หมูกระทะ ติดเทรนทวิตเตอร์ X ทันที คมชัดลึก สรุปประเด็นดราม่า #หมูกระทะ เริ่มต้นจากอะไร จนกลายเป็นเรื่องร้อนทางการเมือง
1) ช่วงเย็นวันที่ 18 ส.ค. 2566 แม่บ้านของรัฐสภา ได้เดินทางมาที่ร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งย่านบางโพ เพื่อร่วมรับประทานบุฟเฟต์หมูกระทะ หลัง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา หรือ หมออ๋อง รองประธานสภาคนที่ 1 ได้จัดเลี้ยงรับรอง และมอบคูปองเป็น Gift Voucher เป็นชื่อหมออ๋องกำกับไว้ เพื่อนำมาแสดงก่อนเข้าร้าน ก่อนที่หมออ๋องจะเดินทางมาที่ร้านด้วย
2) โดยแม่บ้านสภา มีทั้งหมด 370 คน ราคาบุฟเฟต์หมูกระทะ หัวละ 269 บาท ตกเป็นเงิน 99,530 บาท ดราม่าเริ่มต้นขึ้น เมื่อมีการถกเถียง หมออ๋อง ใช้งบอะไรในการจัดเลี้ยง
3) คริส โปตระนันท์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคนใหม่ และอดีตสมาชิกพรรคก้าวไกล จุดประเด็น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “พี่อ๋อง ซวยแล้ว งบรังรองไปเลี้ยงหมูกระทะ แม่บ้าน ทั้งหมด 370 คน คนละ 269 บาท = 99,530 บาท งบรับรองไม่ได้ถูกใช้ในการรับรองในการปฏิบัติหน้าที่ของรองประธานสภา
คูปองมีชื่อ ปดิพัทธ์ พิมพ์ในคูปอง เสี่ยงติดคุกตลอดชีวิต ผิด ป.อ.มาตรา 147, 151, 152, 157 จากกรณีที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 สส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ใช้งบประมาณสำหรับเลี้ยงรับรอง เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้าน อาคารรัฐสภา จำนวน 370 คน เมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา
4) หมออ๋อง เผยว่า การเลี้ยงบุฟเฟต์หมูกระทะในครั้งนี้ เป็นการเลี้ยงรับรอง โดยใช้งบประมาณของรองประธานสภาคนที่ 1 ซึ่งกลุ่มคนที่เราหลงลืมมากที่สุดคือ แม่บ้าน โดยมีแม่บ้านเฉพาะฝั่ง สส. 370 คน มีทั้งแบบจ้างเหมา ประจำ และอัตราจ้าง รวมถึงหลายคนที่กำลังจะหมดสัญญาจ้าง แทนที่จะนั่งพูดคุยกันแบบเครียดๆ ก็เปลี่ยนมานั่งกินหมูกระทะดีกว่า เขาอยากเล่าอะไรก็เล่า และเราจะได้รู้จักด้วยว่ากลุ่มแม่บ้านในสภามีกี่กลุ่ม
5) หมออ๋อง ย้ำว่า งบประมาณที่ใช้ เป็นงบรับรองที่ถูกจัดสัดส่วนให้รองประธานสภาคนที่ 1 ในหนึ่งปี มีงบประมาณ 2 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้อะไร นอกจากใช้รับรองแขก ในการพาไปกินข้าวหรือไปตามที่ต่างๆ ซึ่งก็คงใช้ไม่หมด โดยกลุ่มแม่บ้านชุดนี้ ก็เป็นแขกของเขาเช่นกัน
6) จากนั้น จอมแฉ ศรีสุวรรณ จรรยา โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า ใช้งบรับรองแขก เลี้ยงหมูกระทะแม่บ้านสภา จากเงินภาษีของประชาชน เพื่อหน้าตาของตนเอง ถือเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
7) ขณะที่ชาวเน็ตบางส่วนก็แซะว่า หนึ่งในนโยบายของพรรคก้าวไกล คือ ห้ามใช้เงินหลวงโปรโมทตัวเอง งบประชาสัมพันธ์รัฐ มาจากภาษีประชาชน มีไว้เพื่อสนับสนุนส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อโปรโมทตัวเอง พร้อมตั้งคำถามว่า เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลหรือไม่ แต่บางส่วนก็ตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาในอดีต มีการใช้งบส่วนนี้ไปที่ไหน เลี้ยงใครบ้าง
เปิดระเบียบการจ่ายเงินค่ารับรอง
8) ระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจ่ายเงินค่ารับรองในตำแหน่งประธานวุฒิสภา พ.ศ. 2536
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ยเงินค่ารับรองในตำแหน่งประธานวุฒิสภา พศ. 2536"
ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2535 เป็นต้นไป
ข้อ 3. ในระเบียบนี้
ค่ารับรอง หมายความว่า ค่าเลี้ยงรับรอง ค่าของขวัญ ค่าพิมพ์เอกสารและค่าใช้จ่ายอื่นซึ่งจำเป็นต้องจ่าย ที่เกี่ยวช้องกับการรับรอง เพื่อประโยชน์ในทางการเมือง หรือเพื่อเกียรติแห่งประธานวุฒิเกา
"ค่าเลี้ยงรับรอง" หมายความว่า ค่าอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ รวมทั้งสุรา เครื่องไช้ในการเลี้ยงรับรองและค่าบริการ
ข้อ 4. ค่ารับรองในตำเหน่งประธานวุฒิสภา ให้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง โดยอนุมัติของประธานวุฒิสกา หรือผู้ที่ประธานวุฒิสภามอบหมาย ภายในวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประเภทค่ารับรองของประธานวุฒิสภาที่ได้รับอนุมัติ
ทั้งนี้ มีชาวเน็ตบางส่วน มองว่า การเลี้ยงหมูกระทะด้วยงบรับรอง กลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า งบแบบนี้ควรใช้เลี้ยงแขก VIP เงียบๆ หรือซื้อไวน์ แพงๆ ไม่ควรนำไปเลี้ยงแม่บ้าน ทั้งหมดทั้งปวงจึงเป็นที่มาดราม่าร้อนของ #หมูกระทะ