ถกสนั่น 'ร้านดัง' จดทะเบียน 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบ ชาวเน็ตงงจดได้ไง
ถกสนั่น 'ร้านดัง' จดทะเบียน 'ปังชา' สงวนสิทธิ์ห้ามเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข ชาวเน็ตงงจดได้ไง เมนูมีมานานแล้ว ทำไมถึงกล้ามาเครม
เกิดเรื่องให้ชาวเน็ตถกเถียง เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2566 "ร้านดัง" ซึ่งมีเมนูเด็ด "ปังชา" ออกมาโพสต์รูปภาพเมนู "ปังชา" ผ่านเพจ พร้อมแคปชั่นระบุว่า "จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน🇹🇭 แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark)
"ปังชา" ภาษาไทย และ Pang Cha ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัตคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 จดทะเบียนลิขสิทธิ์, จดทะเบียนสิทธิบัตร, เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย"
หลัง "ร้านดัง" โพสต์การจดทะเบียนเมนู "ปังชา" สู่โซเชียล ก็กลายเป็นประเด็นที่ผู้คนสนใจมียอดแชร์ไปเกือบ 2 พันแชร์ และมีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์ถกเถียงกันสนั่น โดยชาวเน็ตหลายคนมองว่า จดทะเบียนได้อย่างไร เมนู "ปังชา" เหมือนเป็นคำพูดที่คนใช้พูด และเป็นเมนูที่มีมานานมากแล้ว ทำไม "ร้านดัง" ถึงเครมเป็นของตัวเอง และทำไมถึงสามารถจดทะเบียนได้
ล่าสุดมีนักกฎหมาย ออกมาแสดงความคิดเรื่อง "ปังชา" ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Dr. Pete Peerapat โดยโพสต์ข้อความระบุว่า
"จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา คือ อะไร เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่ผู้ประกอบการใส่ใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา แต่ข้อมูลที่เอามาประชาสัมพันธ์ต่อออาจจะไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้อง
เคสนี้จะมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 ประเภท
- ลิขสิทธิ์ - เป็นการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ ซึ่งบ้านเราไม่มีระบบจดทะเบียน เข้าใจว่าเคสนี้เป็นการจดแจ้งประเภทงานจิตรกรรม
- สิทธิบัตร - เป็นการคุ้มครองเรื่องงานประดิษฐ์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งเคสนี้มีผู้รู้บอกว่าเป็นการจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ #ถ้วยใส่น้ำแข็งใส
- เครื่องหมายการค้า - เป็นการคุ้มครองแบรนด์ ซึ่งพวกคำว่า ชา ไม่สามารถจดได้อยู่แล้วเพราะเป็นคำสามัญ เข้าใจว่าเค้าจดคำรวมๆ แล้วสละสิทธิส่วนนั้นออก
สรุป เคสนี้ทางร้านมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า / สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ / จดแจ้งลิขสิทธิ์ จริง แต่จะไปห้ามใครทำ #บิงซู หรือ #น้ำแข็งใส ใส่ชาไทย ไม่ได้นะครับ