ไขข้อข้องใจ ร้านดัง จดสิทธิบัตร 'ปังชา' แบบนี้เราจะขายเหมือนกันได้หรือไม่
"กรมทรัพย์สินทางปัญญา" ไขข้อข้องใจ ร้านดังจดทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย "ปังชา" แบบนี้คนอื่นจะขายได้หรือไม่
กลายเป็นประเด็นถกกันในโลกออนไลน์ เมื่อ ร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งมีเมนูขนม ปังชา ซึ่งเป็นเมนูขึ้นชื่อของร้านโดยโพสต์ภาพและข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่า
"จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเครื่องหมายการค้า สู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยร่วมกันอย่างยั่งยืน🇹🇭 แบรนด์ปังชา จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark)
"ปังชา"ภาษาไทย และ " Pang Cha" ภาษาอังกฤษ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเครื่องหมายการค้า พศ 2534
- จดทะเบียนลิขสิทธิ์
- จดทะเบียนสิทธิบัตร
เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
** สงวนสิทธิ์ห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข
** สงวนสิทธิ์ห้ามนำชื่อแบรนด์ปังชา Pang Cha ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ไปใช้เป็นชื่อร้านหรือใช้เป็นชื่อสินค้าเพื่อจำหน่าย
ปรากฎว่า ในโลกโซเซียลมีการแชร์เรื่องราวดังกล่าวออกไปเป็นจำนวนมาก และแสดงความเห็นโดยมองว่าการจดลิขสิทธิ์ เมนู ปังชา ซึ่่งเป็นเมนูที่มีการทำขายกันมานานแล้วทำร้านอาหารดังกล่าวถึงไปจดลิขสิทธิ์ได้ รวมถึงเมื่อเป็นแบบนี้แล้ว คนอื่นยังจะขายเมนูนี้ได้หรือไม่
ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความว่า
วันนี้ "ปังชา" กลายเป็นประเด็นยอดฮิตที่ทุกคนให้ความสนใจว่าเมนูน้ำแข็งไสที่มีขนมปังและราดด้วยชาไทยยังขายอยู่ทั่วไปได้หรือไม่ ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีเมนูลักษณะนี้ต้องทำอะไรต่อบ้าง เราเพิ่มเติมความรู้ด้านนี้กัน
จากกระแสร้านอาหารชื่อดังได้โพสต์ภาพสินค้าของร้าน พร้อมระบุถึงทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้รับความคุ้มครอง พร้อมทั้งสงวนสิทธิห้ามลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข หรือนำชื่อไปใช้ ทำให้มีข้อสงสัยว่า เรื่องนี้เป็นมาอย่างไง
กรมทรัพย์สินทางปัญญาขอชื่นชมผู้ประกอบการที่ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง
จึงขอถือโอกาสนี้ชวนทุกท่านมาทำความรู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องแต่ละประเภท เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อไป
เกร็ดความรู้ดีๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ติดตามข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาและขอคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IPAC) หรือโทรสายด่วนได้ที่ 1368
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังชี้แจงเพิ่มเติมอีกว่า "น้ำแข็งไสราดชาไทย มีขายมานานแล้ว" จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร แล้วอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในเมนูนี้ได้
แต่ภาชนะที่ใช้ใส่ "ปังชา" ของแบรนด์ที่เป็นข่าว เขาจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้นะ
เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย "ใครก็ขายได้" แต่อย่านำลวดลายหรือแบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต แต่ ถ้าคิดค้นสูตรขนมขึ้นมาใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฎในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้ด้วย
รวมถึง การใช้คำว่า "ปัง...ชา" หรือ "...ปังชา..." กับเมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย ยังทำต่อได้ แต่ ไม่ควรใช้รูปแบบฟอนต์ ที่ชวนให้นึกถึงแบรนด์นั้นๆ
ในขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Pang Cha-ปังชา World Class Thai Tea โพสต์ประกาศชี้แจง ถึงกรณีการจดทรัพย์สินทางปัญญา ทางร้านขออภัยที่มีการสื่อสารและทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ที่มา เพจเฟซบุ๊ก กรมทรัพย์สินทางปัญญา
เพจเฟซบุ๊ก Pang Cha-ปังชา World Class Thai Tea