เด่นโซเชียล

'บั้งไฟพญานาค 2566' ปีนี้ขึ้นกี่ลูก เปิดความเชื่อทำไมต้องเป็น 15 ค่ำ เดือน 11

'บั้งไฟพญานาค 2566' ปีนี้ขึ้นกี่ลูก เปิดความเชื่อทำไมต้องเป็น 15 ค่ำ เดือน 11

30 ต.ค. 2566

'บั้งไฟพญานาค 2566' ปีนี้ขึ้นกี่ลูก พบที่จังหวัดไหนมากสุด พร้อมเทียบสถิติปีก่อน ขณะ เปิดความเชื่อทำไมต้องเป็น 15 ค่ำ เดือน 11

'บั้งไฟพญานาค 2566' บรรยากาศการชมบริเวณริมแม่น้ำโขง จ.หนองคาย ในปีนี้เป็นไปอย่างคึกคัก โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีบวงสรวงพญาพิสัยสัตตนาคราช ในงานประเพณีออกพรรษาบั้งไฟพญานาคโลก มีประชาชนเข้าร่วมต้อนรับอย่างคึกคัก ซึ่งในปีนี้ยอดบั้งไฟที่ขึ้นอย่างไม่เป็นทางการจนถึง 20.00 น. (30 ต.ค. 2566) พบว่ามีเพียง 61 ลูกเท่านั้น โดยพบที่ จ.หนองคาย ทั้งหมด

 

 

โดยนักท่องเที่ยวที่มารอชมปรากฏการณ์ 'บั้งไฟพญานาค' สมใจเมื่อบั้งไฟลูกแรกของปีนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น. จำนวน 29 ลูก ที่บ้านต้อน อ.รัตนวาปี หลังจากนั้นก็มีบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกระจายในหลายจุด อาทิ บ้านตาลชุม, บ้านเปงจานเหนือ อ.รัตนวาปี, ที่วัดไทย อ.โพนพิสัย นับตั้งแต่มีบั้งไฟพญานาคลูกแรกเกิดขึ้นมี 'บั้งไฟพญานาค' จนถึง 20.00 น. (30 ต.ค. 2566) พบว่าแล้วนับได้ 61 ลูก (อย่างไม่เป็นทางการ)

 

 

ล่าสุด PR.Nongkhai สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดหนองคาย ได้รวบรวมสถิติการเกิดปรากฏการณ์ 'บั้งไฟพญานาค' นับตั้งแต่เกิดขึ้นลูกแรก ในเวลา 18.00 -22.00 น. โดยเป็นบั้งไฟพญานาคเกิดขึ้นในริมโขงพื้นที่ อ.โพนพิสัย รวม 46 ลูก ส่วนที่ อ.รัตนวาปี เกิดบั้งไฟพญานาค จำนวน 243 ลูก รวม 2 อำเภอ ปีนี้มี 'บั้งไฟพญานาค' เกิดขึ้น 289 ลูก นักท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 83,610 คน

 

 

ขณะที่จากสถิติการขึ้น 'บั้งไฟพญานาค'ในปี 2565 จากสำนักงานสถิติจังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2565 พบว่า เกิดปรากฏการณ์ 'บั้งไฟพญานาค' จำนวน 260 ลูกด้วยกัน โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ อ.รัตนวาปี จำนวน 240 ลูก อ.โพนพิสัย จำนวน 20 ลูก

 

 

ส่วนปี 2564 จากข้อมูลที่แต่ละอำเภอรายงานมา จ.หนองคาย อย่างไม่เป็นทางการ มี 'บั้งไฟพญานาค' เกิดขึ้นทั้งหมดจำนวน 615 ลูก 

 

 

บั้งไฟพญานาค

 

 

ลักษณะ

 

'บั้งไฟพญานาค' เป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1-30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50-150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5-10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ มิได้หรี่เล็กลงแล้วค่อยๆ ดับ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมาเหมือนดอกไม้ไฟ

 

 

ตำนานและความเชื่อ

 

เดิมที พญานาค อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล มีนิสัยดุร้าย ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ก็เกิดความเลื่อมใสศาสนาพุทธ เลิกนิสัยดุร้าย และคิดบวช แต่ก็ติดที่เป็นสัตว์ไม่สามารถบวชได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ พญานาค จึงปวารณาตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จนครบ 1 พรรษา (3 เดือน) และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ด้วยความนี้เมื่อรู้ถึง พญานาค ที่อยู่เมืองบาดาล จึงเกิด 'บั้งไฟพญานาค' และยังว่า ตราบเท่าที่ความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเกี่ยวกับพญานาคยังคงอยู่ คนอื่นๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ก็ควรยึดหลัก "ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่"

 

 

บั้งไฟพญานาค

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย