เด่นโซเชียล

'ธรรมกาย' ออกแถลงการณ์ ถูกโยง 'ลัทธิโยเร'

'ธรรมกาย' ออกแถลงการณ์ ถูกโยง 'ลัทธิโยเร'

04 ม.ค. 2567

'ธรรมกาย' ออกแถลงการณ์ ปัด ไม่เกี่ยวข้อง 'ลัทธิโยเร' หลังถูกโยง ยืนยัน ยึดแนวปฏิบัติ ตามหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์เถรวาท

จากเหตุการณ์ สัตวแพทย์หญิง กินไซยาไนด์ฆ่าตัวตาย พร้อมลูกสาววัย 12 ปี และนก ที่เลี้ยงไว้อีก 2 ตัว ภายในห้องนอนบ้านพัก ในพื้นที่บ้านเนินกระปรอก ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พร้อมทิ้งจดหมายระบุให้นำร่างตัวเองและลูกกับนกใส่โลงเดียวกัน และทำการเผาทันที ซึ่งอดีตสามี เชื่อว่า สาเหตุการฆ่าตัวตาย เป็นเพราะภรรยาป่วยซึมเศร้า ก่อนเข้าร่วมเป็นผู้นับถือ “ลัทธิโยเร” 

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการเชื่อมโยง “ลัทธิโยเร” มีความเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกาย นั้น ล่าสุด ธรรมกาย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย ยืนยันว่า วัดพระธรรมกายไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโยเรแต่อย่างใด โดยมีเนื้อหาระบุว่า

 

 

ตามที่สื่อออนไลน์บางสำนัก นำเสนอข่าวอันเป็นเท็จว่า “ลัทธิโยเร” เชื่อมโยงเกี่ยวพันกับวัดพระธรรมกายนั้น วัดพระธรรมกายขอชี้แจงว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับกลุ่มความเชื่อตามที่สื่อกล่าวอ้าง ทั้งนี้ วัดพระธรรมกายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา สังกัดคณะสงฆ์ไทย ยึดแนวปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยของสงฆ์เถรวาท ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม (มส.)

ดังนั้น การนำเสนอข่าวที่ปราศจากข้อเท็จจริง อาจเป็นการกระทำผิดกฎหมายได้ วัดพระธรรมกายจึงชี้แจงมาเพื่อทราบ และโปรดเผยแพร่ความจริงดังกล่าวแก่สาธารณชนด้วย

แถลงการณ์วัดพระธรรมกาย

 

ทั้งนี้ ลัทธิโยเร นั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เซไกคีวเซ” เป็นหนึ่งในศาสนาใหม่ของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการผสานความเชื่อของลัทธิชินโต ศาสนาพุทธนิกายมหายาน และหลักจริยธรรมสากล ก่อตั้งโดย นายโมกิจิ โอกาดะ เมื่อปี 2478 มีความเชื่อเรื่องการส่งพลังแสง เรียกว่า “แสงทิพย์” ผ่านฝ่ามือสู่ร่างกาย เพื่อจุดประสงค์ในการรักษา ตามกระบวนการที่เรียกว่า “โยเร” และยังมีแนวปฏิบัติอื่นโดยเฉพาะเรื่องความงามและศิลปะจากธรรมชาติ เช่น เกษตรกรรมธรรมชาติ และการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น

 

 

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ระบุว่า “ลัทธิโยเร” เข้าสู่ประเทศไทยในปี 2511 โดย “คาซูโอะ วากูกามิ” ศาสนาจารย์คณะผู้เผยแผ่มาตั้งรกรากในประเทศไทย โดยเริ่มการเผยแผ่คำสอนด้วยการแปลเอกสารทางศาสนา และก่อตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมในประเทศไทย จึงได้ทำการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ด้วยกิจกรรมทางศาสนา” เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2513 มีสำนักงานใหญ่แห่งแรกอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ กรุงเทพมหานคร ขณะนั้นมีศาสนิกชนอยู่ทั้งหมด 40 คน

 

 

แต่ต่อมา เริ่มมีผู้บิดเบือนคำสอนและเจตนารมย์เดิมของผู้ก่อตั้ง มีการตั้งองค์กรเป็นกลุ่มธุรกิจเชิงพาณิชย์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่เป็นเรื่องอันตรายไปกว่านั้น คือ สาวกต่างเชื่อว่า กรรมวิธีรักษาอาการป่วยด้วยวิธีโยเร การเกณฑ์สมาชิกมาร่วมสวดและหันมือเข้าหาผู้ป่วย จะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาจากแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่เสียชีวิต จากการปฏิเสธการรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะพึ่งพาความเชื่อผิดๆ