เด่นโซเชียล

ศิลปะสุดทึ่ง ทำจากวัสดุเหลือใช้ สื่อชีวิต 'คนเร่ร่อน'

ศิลปะสุดทึ่ง ทำจากวัสดุเหลือใช้ สื่อชีวิต 'คนเร่ร่อน'

16 ก.พ. 2567

โซเชียลฯ ร่วมกันชื่นชมผลงานของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังโพสต์ภาพผลงานการเรียนศิลปะ โดยการสะท้อนปัญหาสังคมเมืองของคนเร่ร่อน-ไร้บ้าน เน้นเทคนิคจัดมุม และองศาหลอดไฟให้เป็นเงา

นายธานินท์ ใจบุญ นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกจิตรกรรม สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้โพสต์เฟซบุ๊กผล งานศิลปะ ของตนเองซึ่งเป็นผลงานการเรียนของตนเองลงกลุ่ม “ART & CRAFT Lovers Market" ซึ่งก็มีคนเข้ามาชื่นชมและแชร์ออกไปมากกว่า 1.2 หมื่นแชร์ และเข้ามาแสดงความคิดเห็นอีกกว่า 2.5 พันคอมเมนต์ โดยผลงานชิ้นนี้ เขาได้โพสต์ถึงแนวคิดการจัดทำ ซึ่งบอกเล่าถึงชีวิตของ คนเร่ร่อน - ไร้บ้าน โดยเน้นจัดผลงานเป็น เด็ก เหตุสื่ออารมณ์ความน่าสงสาร น่าเอ็นดูได้ดีกว่า

นายธานินท์ บอกเล่าถึงเเนวคิดว่า งานชิ้นนี้ทำเกี่ยวกับสภาพเเวดล้อมของคนเร่ร่อน จากสังคมในเมือง และจากประสบการณ์ที่เคยพบเจอในชีวิตจริง เพื่อนำความบันดาลใจนั้นมาสร้างสรรค์ แสดงออกเป็นผลงานศิลปะ และด้วยข้าพเจ้าเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่ในสังคมเมือง เพื่อทำงานหารายได้และศึกษา ทุกครั้ง เมื่อเดินทางจะมีความรู้สึก และเห็นบางอย่างในสังคมเมือง คือ ความเจริญรุ่งเรือง ความทันสมัย และสิ่งอำนวยความสะดวกที่พัฒนาไปไกล ด้วยปัจจัยหลายๆด้านสังคมจึงได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนหนาแน่นหลั่งไหลเข้ามาในเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เพื่อพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น 

       
แต่ตรงกันข้ามทำไมกลับมีคนเร่ร่อน คนไร้บ้านอยู่จำนวนไม่น้อย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น ภาพของการใช้ชีวิตอย่างน่าสงสาร อย่างดิ้นรน เดินตามข้างถนน เก็บของเก่าขายบ้าง เพื่อจะเเลกกับอาหาร ใช้ชีวิตให้รอดในเเต่ละวัน  สภาวะเหล่านี้อาจถือเป็นประสบการณ์ ทำให้ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกต และสงสัยว่าพวกเขาเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นจากไหน ใช้ชีวิตรอดได้อย่างไร ท่ามกลางความเจริญ

        ผลงานศิลปะ นิสิต มมส.
ผลงานชิ้นนี้ ข้าพเจ้าต้องการจะสื่อถึงการใช้ชีวิตประจำวันในด้านต่างๆของคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน ทั้งด้านอาหาร ด้านอาชีพ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเดือนร้อนเเก่ผู้อื่นแต่อย่างใด มุมมองของคนไร้บ้าน คือ อยากให้ทำความเข้าใจ ยอมรับว่าจริงๆแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นภัยอันตรายกับสังคม อยากให้สังคมให้โอกาสพวกเขาเหล่านี้

ผลงานศิลปะ นิสิต มมส.

ส่วนวัสดุที่เลือกใช้ เขาทำมาจาก วัสดุที่เหลือใช้ สิ่งของที่ผู้คนบริโภคหมดเเล้ว เเละได้นำทิ้งเกลื่อนกลาด ตามข้างทาง หรือทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ทำให้สภาพเเวดล้อมเสื่อมโทรม จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดเเนวคิดที่อยากจะสร้างสรรค์คุณค่าให้เเก่วัสดุขึ้นมาใหม่ เเละที่สำคัญ สิ่งของเหล่าที่ข้าพเจ้านำมาสร้างสรรค์งานชินนี้ล้วนมีความเชื่อมโยงกับคนเร่ร่อน เช่น 1)กระดาษลัง มักจะเห็นพวกเขาเหล่านี้ นำมันมาไว้เป็นที่รองนั่ง รองนอน 2)ขวดน้ำ มักจะเห็นพวกเขาเดินเก็บขวด นำไปขายหรือไปเเลกอาหาร เพื่อประทังชีพในแต่ละวัน

ผลงานศิลปะ นิสิต มมส.

เทคนิคกลวิธี :

  1. ข้าพเจ้าจัดมุม และองศาของหลอดไฟไว้บริเวณพื้นหันหน้าของหลอดไฟขึ้นตามความเหมาะสม ที่ข้าพเจ้าต้องการ
  2. ข้าพเจ้าได้สร้างโครงสร้างไว้รับน้ำหนักของวัสดุที่จะมาสร้างเงาบนผนัง โดยการนำเอาเศษไม้เเละกระดาษลังมายึดติดกันเพื่อให้เกิดความมั่นคงของตัวฐาน
  3. ข้าพเจ้าตัดวัสดุที่นำมาสร้างเงาเป็นชิ้นส่วนตามที่ข้าพเจ้าต้องการ เเละติดทับกันไปเรื่อยๆจนเกิดภาพเงาบนผนัง ซึ่งภาพเงาที่ปรากฏอยู่บนผนัง คือภาพของเด็กชายที่กำลังนอนอยู่บนกระดาษลัง มีลักษณะท่าทางการนอนที่ดูเเล้ว เกิดความรู้สึกเอ็นดู เกิดความรู้สึกน่าสงสาร (ทำไมเลือกรูปเด็ก เพราะว่าเด็กสามารถสื่ออารมณ์ของความน่าเอ็นดู เเละความน่าสงสารได้ดีสำหรับข้าพเจ้า) เเละข้าพเจ้าต้องการจะสื่อความหมายว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เด็กคือความสดใส เเต่เด็กเหล่านี้ ยังขาดโอกาสจากสังคม
  4. ข้าพเจ้านำวัสดุมาทำการจัดการหลอดไฟให้เป็นส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้

ผลงานศิลปะ นิสิต มมส.

  • ผลงานในรายวิชา : วิชาจิตกรรม4 ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์เเละวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  • ขนาด : กว้าง120cm. ยาว170cm. สูง60cm.
  • ผลงานของ : ธานินท์ ใจบุญ นิสิตชั้นปีที่3 เอกจิตรกรรม สาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • ปี : 2024
  • ผลงานศิลปะ นิสิต มมส. ผลงานศิลปะ นิสิต มมส.