อันตรายถึงตาย ‘แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส’ พิษร้ายแรงที่สุดในโลก
เตือนนักท่องเที่ยว 'แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส’ แมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก เกลื่อนหาดชลาทัศน์ พิษอันตรายถึงตาย
โซเชียล โพสต์เตือนภัย "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" เกลื่อนหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา พบมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูก พิษแมงกะพรุน หลายราย ทั้งในพื้นที่ อ.สิงหนคร มาจนถึงที่ อ.เมือง จ.สงขลา ตลอดแนวหาดชลาทัศน์ ล่าสุดวันที่ 26 ก.พ.67 ที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบริเวณริมหาดพบว่ามี "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" เกลื่อนหาด
ลักษณะเด่น
หัวมีสีขาวเหมือนหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวมีสีน้ำเงิน มีพิษร้ายแรง โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากไปโดน พิษแมงกะพรุน ชนิดนี้ อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต พบมากในช่วงมรสุม
ส่งผลให้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในห้วงเวลานี้ "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายหาดต่างๆ ตลอดแนวทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา กระบี่ ภูเก็ต
นายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เผยว่า ปรากฎการณ์ของ "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" จริงๆ เจอกันเป็นประจำทุกๆ ตามฤดูกาล แต่ปีนี้จากการสำรวจพบว่ามีมากกว่าปีก่อนๆ มาก ตั้งแต่ริมหาดตลอดแนวไปจนถึงกลางทะเลใกล้เกาะหนูเกาะแมว
ขณะนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังเชิงรุก ห้ามนัก ท่องเที่ยว ลงเล่นน้ำ หากพบมีผู้ถูก พิษแมงกะพรุน ชนิดนี้ก็จะเร่งให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
โดยระหว่างนี้ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ก็ยังจะพบ "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามต้องขอความร่วมมือประชาชนและ นักท่องเที่ยว ระมัดระวังในการลงเล่นน้ำ หากพบแมงกะพรุนไฟดังกล่าว อย่าเข้าใกล้เด็ดขาด และหากโดนพิษให้เร่งเอาน้ำส้มสายชูราดที่ผิวหนังทันที
สำหรับ แมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) เป็นแมงกะพรุนไฟสายพันธุ์ Physalia มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" จัดเป็นแมงกะพรุนไฟที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก
ลักษณะของ "แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส" จะมีลําตัวสีชมพูม่วง น้ำเงิน หรือเขียว ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร รูปร่างของร่มแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายเรือใบ ลักษณะภายนอกของลําตัวมีปากยื่นยาวออกมาจากลําตัว และมีหนวดยาวได้มากถึง 30 เมตร ออกมาจากขอบร่มเป็นสายยาว
โดยปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย ส่วนใหญ่จะพบในทะเลเปิดของ มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และ มหาสมุทรอินเดีย แต่จะอาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้น หรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล