เด่นโซเชียล

ดาวตก - อุกกาบาต คืออะไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ลูกไฟ ที่ตกควรเรียกแบบไหน

ดาวตก - อุกกาบาต คืออะไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ลูกไฟ ที่ตกควรเรียกแบบไหน

05 มี.ค. 2567

'ดาวตก' - 'อุกกาบาต' คืออะไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ขณะที่ 'อ.เจษฎ์' ตอบชัด 'ลูกไฟ' ที่ตกควรเรียกแบบไหน ถึงจะถูก

จัดว่าเป็นอีกประเด็นที่ร้อนบน โซเชียล เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา (4 มี.ค. 2567)  เมื่อเกิด 'ลูกไฟ' ตกมาจากฟ้า เป็นแสงสีเขียวเห็นได้ด้วยตาเปล่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จนมีการแชร์กันทั้งคลิปและรูปภาพมากมาย ซึ่งหลายคนเรียกสิ่งที่ตกลงมาว่า อุกกาบาต แต่ล่าสุดผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาอธิบายแล้วว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือ ดาวตกขนาดใหญ่ พร้อมแยกชัดเจนว่า แบบไหนคือ 'ดาวตก' แบบไหนคือ 'อุกกาบาต'

 

 

'อ.เจษฎ์' รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านทางเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า "เวลาอยู่บนฟ้า เรียก 'ดาวตก' เจอเป็นก้อนที่พื้นค่อยเรียก 'อุกกาบาต' ครับ"  

 

เห็นคนโพสต์กันใหญ่เลย ว่าเห็นแสงไฟประหลาด สีออกเขียว อยู่บนท้องฟ้า พุ่งลงมา เห็นได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดภาคกลาง (ดูภาพประกอบจาก สมาคมดาราศาสตร์) ซึ่งก็ไม่น่ามีอะไรน่าตกใจนะครับ มันก็คือสะเก็ดดาวที่พุ่งจากอวกาศ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ลงสู่พื้นโลกนั่นเอง แล้วมันก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ อยู่แล้ว

 

"ประเด็นคือ สำนักข่าวส่วนใหญ่ชอบพาดหัวข่าวว่ามีคนเห็น 'อุกกาบาต' กัน ซึ่งไม่ถูกนะครับ ควรใช้คำว่า 'ดาวตก' หรือคำว่า 'ผีพุ่งไต้' หรือคำว่า 'ลูกไฟ' จะถูกต้องกว่าครับ"

 

 

คำว่า "สะเก็ดดาว อุกกาบาต ดาวตก ผีพุ่งไต้ ลูกไฟ ฝนดาวตก" ใช้ต่างกัน ดังนี้

 

สะเก็ดดาว (meteoroid) : เป็นชิ้นวัตถุแข็งจำพวกหินกับเหล็ก เกิดจากส่วนหนึ่งของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ และบางส่วนเกิดจากเศษที่แตกหักของดาวหาง วัตถุเหล่านี้ตอนอยู่ในอวกาศ

 

ต่อมา เมื่อสะเก็ดดาวโคจรเข้ามาอยู่ในรัศมีแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้มันถูกดึงดูดลงยังพื้นโลกด้วยความเร็วช่วง 19 ถึง 40 กิโลเมตรต่อวินาที จนเกิดการเสียดสีกับบรรยากาศจนร้อนจัด และหลอมตัวเป็นลูกไฟสว่าง

 

 

ดาวตก หรือ ผีพุ่งไต้ (meteor) : ใช้เรียกเมื่อสะเก็ดดาวเคลื่อนที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก จนเกิดความร้อนและแสงสว่าง ส่วนมากมักลุกไหม้หมดก่อนถึงพื้นโลก

 

 

ลูกไฟ (Fireball) หรือ โบลายด์ (Bolide) :  คือดาวตกที่ส่องแสงสว่างมาก ๆ เกิดจากวัตถุนอกชั้นบรรยากาศตกลงมาสู่โลก และเกิดการเผาไหม้จึงเห็นไฟเป็นสีต่างๆ 

 

โดยสีที่เห็นนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมี อาทิ สีแดง (มีองค์ประกอบของ ไนโตรเจนและออกซิเจน) สีเหลือง (มีองค์ประกอบของ ไอรอน หรือเหล็ก) สีม่วง (มีองค์ประกอบของ แคลเซียม) สีส้มอมน้ำตาล (มีองค์ประกอบของ โซเดียม)  สีเขียวอมฟ้า (มีองค์ประกอบของ แมกนีเซียม) 

 

 

อุกกาบาต (meteorite) : ใช้เรียกชิ้นส่วนของสะเก็ดดาวที่สลายตัวไม่หมด จนตกลงมาถึงพื้นโลก แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ หิน (stone) เหล็ก (iron) เหล็กปนหิน (Stone-Iron)

 

 

ฝนดาวตก (meteor shower) : ปรากฏการณ์ที่เกิดดาวตกจำนวนมากในอัตราที่ถี่กว่าปกติ เกิดจากโลกโคจรฝ่าเข้าไปในธารอุกกาบาต ซึ่งสะเก็ดดาวเหล่านั้นก็จะตกลงสู่บรรยากาศโลกกลายเป็นดาวตก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์บนโลก