เปิดภาพ 'ขยะอวกาศ' หนักครึ่งตัน เคลื่อนผ่านน่านฟ้าไทย เตรียมตกสู่พื้นโลก
ใกล้เข้ามาทุกนาที เปิดภาพ 'ขยะอวกาศ' ขนาดกว่าครึ่งตัน เคลื่อนผ่านน่านฟ้าไทยคืนนี้ ลูกไฟ สว่างไสวคล้าย 'ดาวตก' จังหวัดไหนเห็นชัดสุด เช็กที่นี่
สมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยภาพ ขยะอวกาศ ที่มีขนาดกว่าครึ่งตัน ซึ่งกำลังจะตกลงสู่พื้นโลก สามารถรับชมได้ช่วงกลางดึกของคืนนี้ ลูกไฟ จะสว่างไสวคล้าย "ดาวตก" เคลื่อนไปช้าๆ จากฟ้าตะวันตกไปยังฟ้าตะวันออก
8 มี.ค. 2567 สมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยภาพ ขยะอวกาศ โดยขยะอวกาศดังกล่าว มีรูปร่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมคล้ายกล่อง เป็นสีขาว คาดว่าน้ำหนักกว่าครึ่งตัน หรือ ราว 500 กิโลกรัม จากสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ที่กำลังตกลงมายังพื้นโลก
สามารถสังเกตเห็นได้ ในช่วงเที่ยงคืนของวันนี้ 8 มี.ค.2567 ช่วงเวลาประมาณ 00:00-00:30 น. สมาคมดาราศาสตร์ไทย เผยว่า หากมี ลูกไฟ สว่างไสวคล้าย "ดาวตก" เคลื่อนไปช้าๆ จากฟ้าตะวันตกไปยังฟ้าตะวันออก ให้สันนิษฐาน ว่าเป็นขยะอวกาศจากสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะรายงานความคืบหน้าล่าสุด ให้ทราบตลอดทั้งวัน
ขณะที่ วิถีโคจรของ ขยะอวกาศ (ไม่ใช่จุดตก) ขนาดครึ่งตัน จากสถานีอวกาศนานาชาตินี้ จะเคลื่อนผ่านน่านฟ้าไทยคืนนี้ เวลาประมาณ 00:04-00:13 น. เส้นทางเคลื่อนผ่าน จ.กาจนบุรี จ.ราชบุรี และเคลื่อนผ่านอ่าวไทย
คาดว่า ขยะอวกาศ ดังกล่าว จะเคลื่อนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ทางตอนบนของทวีปอเมริกาเหนือ รายงานของศูนย์การบินและอวกาศเยอรมัน (DLR) เผยว่า ระหว่างที่ ขยะอวกาศ เคลื่อนผ่านชั้นบรรยากาศโลก จะเกิดการเสียดสี เผาไหม้ ทำให้คนบนโลกมองเห็นเป็นลำแสงสว่างบนท้องฟ้า คล้าย "ดาวตก" จากนั้นจะตกลงสู่มหาสมุทร ขณะนี้ทางรัฐบาลเยอรมัน ได้ออกประกาศเตือนภัยไว้แล้วภายในประเทศไว้ล่วงหน้า
ก่อนหน้านี้ ชาวเน็ตทั่วประเทศไทย รายงานพบเห็นลูกไฟ "ดาวตก" มาแล้ว 2 ครั้ง
- ครั้งแรก ครั้งที่ 1 มีรายงานการพบเห็น "ดาวตก" เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2567 เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 21.15 น.
- ครั้งล่าสุด ครั้งที่ 2 มีรายงานการพบเห็น "ดาวตก" เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2567 เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 19.13 น.
นอกจากนี้ สมาคมดาราศาสตร์ไทย ยังได้โพสต์ข้อมูลว่า ช่วงนี้อาจเข้าสู่ "ฤดูลูกไฟ" โดย นักดาราศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสถิติของการเกิด ลูกไฟ พบว่า ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่อัตราการพบเห็น ลูกไฟ ในเวลาหัวค่ำสำหรับผู้สังเกตในซีกโลกเหนือเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงอื่นราวร้อยละ 10-30 เรียกช่วงดังกล่าวว่า "ฤดูลูกไฟ" และไม่เพียงแต่ลูกไฟเท่านั้น อัตราการพบ อุกกาบาต ตกในซีกโลกเหนือก็เพิ่มขึ้นด้วยในช่วงเดียวกัน
ภาพ : NASA ,Satflare