รู้จัก 'โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน' อันตรายแค่ไหน มีอาการอย่างไรบ้าง ?
รู้จัก "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" (Spondylolisthesis) เกิดจากสาเหตุใด อันตรายแค่ไหน มีอาการอย่างไรบ้าง และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใด?
ไขข้อสงสัย "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" (Spondylolisthesis) เกิดจากสาเหตุอะไร อันตรายแค่ไหน มีอาการอย่างไรบ้าง? และสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใด?
- "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" เกิดจากอะไร?
"โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" (Spondylolisthesis) เกิดจากการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อหนึ่งไปด้านหน้า หรือ ด้านหลังมากกว่าปกติที่จะเป็น จากสถิติส่วนมากพบการเคลื่อนของกระดูกสันหลังข้อที่ 4- 5 เนื่องจากกระดูกส่วนนี้รับน้ำหนักส่วนใหญ่ของร่างกาย
- อาการของ "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน"
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาการแย่ลงหลังออกกำลังกาย สามารถแบ่งอาการออกเป็น 2 ส่วน
- อาการที่หลัง คือ มีอาการปวดหลังเรื้อรัง เกิดอาการในขณะที่มีการขยับหลังมาก เช่น ก้ม เงย หรือเดิน เป็นเวลานาน
- อาการที่ขา คือ มีอาการ ปวดชา หนักไปที่บริเวณสะโพก หรือต้นขา 2 ข้าง อาการจะเป็นมากขณะเดิน และอาการจะบรรเทาเมื่อมีการก้มโค้งหลังหรือได้นั่งพัก หากโพรงประสาทตีบแคบมาก อาจมีผลกับการควบคุมการขับถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ
- สาเหตุ "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน"
ข้อมูลจากโรงพยาบาลนครธนระบุว่า "โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน" พบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ละพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยมีสาเหตุมาจากสิ่งเหล่านี้
- ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมมาก หรือ ผิดปกติแต่กำเนิด
- กระดูกสันหลังส่วน pars interarticularis แตก หัก ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างตัวปล้องกระดูกสันหลัง กับส่วนหางของกระดูกสันหลัง จึงทำให้ตัวปล้องของกระดูกสันหลังเคลื่อนมาข้างหน้ามากกว่าปกติเพราะขาดตัวยึดไว้
- ข้อต่อ facet joint เกิดการเสื่อม ทำให้กระดูกสันหลังข้อนั้นๆขาดความมั่นคงจนเกิดการเคลื่อนไหวที่มากกว่าปกติ
- อุบัติเหตุและการบาดเจ็บต่อกระดูกสันหลัง
- การทำกิจกรรมที่ทำให้มีแรงตึงสะสมบริเวณกระดูกหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะกีฬา เช่น ฟุตบอล ยิมนาสติก กรีฑา ยกน้ำหนัก เป็นต้น
- การติดเชื้ออย่างวัณโรคกระดูกสันหลังหรือโรคมะเร็งที่กระจายลุกลามมายังกระดูกสันหลัง
- วิธีการรักษา
การรักษาแบบประคับประคอง เป็นการรักษาตามอาการ โดยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ หากผู้ป่วยมีอาการชาที่ขา อาจต้องฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ บริเวณเส้นประสาท ที่ถูกกระดูกสันหลังกดทับด้วย ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ลดน้ำหนัก เพื่อยืดและเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง จะกระทำในกรณีรักษาแบบประคับประคองแล้วอาการไม่ดีขึ้น รวมถึงผู้ป่วยมีอาการปวดหลังส่วนล่างเป็นประจำหรือรุนแรง หรือมีอาการทางระบบประสาทสัมพันธ์กับข้อกระดูกเคลื่อน เช่น อ่อนแรง ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระ และผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยในระดับที่ 3 และ 4 ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เป็นวิธีการผ่าตัดที่ใช้เชื่อมกระดูกข้อสันหลังตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป
โดยมักจะทำเพื่อกำจัดอาการปวด จากการเคลื่อนตัวของข้อกระดูกสันหลัง และจัดแนวกระดูกสันหลังให้กลับมาอยู่แนวปกติให้มากที่สุด การเชื่อมข้อกระดูกสันหลังมักจะทำกับกระดูกสันหลังบริเวณบั้นเอว แต่ก็สามารถใช้กับกระดูกสันหลังส่วนคอและอกได้ ผู้ป่วยที่เข้ารับการเชื่อมยึดกระดูกสันหลังมักจะมีปัญหาการดึงรั้งของเส้นประสาทหรือไม่ก็มีอาการปวดรุนแรงที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการปกติได้
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลนครธน