นางแบบไทยในญี่ปุ่น โพสต์เสียความรู้สึก 'ช่างภาพ' ใช้ภาพ AI แต่งแทนหน้าจริง
ชาวเน็ตเสียงแตก นางแบบไทยในญี่ปุ่น โพสต์ระบายเสียความรู้สึก หลัง ช่างภาพ จ้างถ่ายงาน แต่กลับใช้ AI ปรับแต่งและใช้แทนหน้าจริง
เข้าสู่ยุคที่ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอำนวยความสะดวกในการค้นคว้าหาข้อมูล หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ หรือไอเดีย ในการทำงาน บางอาชีพอาจต้องใช้สิ่งนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือการทำงานไปเลยก็เริ่มมีมาให้เห็น
ซึ่งล่าสุดก็ได้มีเรื่องราวของดราม่า ซึ่งเกิดขึ้นในวงการ นางแบบ กับ ช่างภาพ เมื่อ ช่างภาพได้ว่าจ้าง นางแบบไทยในญี่ปุ่น ไปเป็นแบบในการถ่ายรูปให้ แต่เมื่อเผยแพร่ ช่างภาพ กลับใช้ภาพที่ถูเจเนอเรท หรือปรับแต่งโดย AI มาโพสต์ และทางด้านนางแบบเองก็ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าเธอนั้นเสียความรู้สึกอย่างมากที่ภาพนั้นเป็นหน้าของ AI ไม่ใช่หน้าตาจริงๆ ของเธอเอง
เธอระบุข้อความส่วนหนึ่งว่า "ส่วนตัวรู้สึกว่าเสียมารยาทมากๆ ไม่เคารพสิทธิ์ส่วนบุคคลมาก ไม่ให้เกียรติเราที่เป็นนางแบบเลย แล้วทำเหมือนอีกฝ่ายไม่ใช่คน ไม่มีความรู้สึก ประเด็นแรกคือไม่บอกเราก่อนสักนิดเลย เเละจงใจซ้อนโพสนี้กับเรา จนเราทักเขาไปว่า "ขออนุญาตถามได้ไหมคะ ว่าทำไมถึงใช้ใบหน้า Ai แทนหน้าของนิก ไม่ชอบหน้านิกตรงไหนหรือเปล่าคะ ถ้ารู้สึกว่าไม่ตรงกับความต้องการที่พี่จ้าง นิกคืนเงินค่าจ้างทั้งหมดให้ได้นะคะ" เขาตอบแค่ว่า "แค่อยากเล่นอะไรสนุกๆ" สนุกมากไหม? ต้องสนุกด้วยกี่โมง? สนุกแบบใด? "
ความเห็นของชาวเน็ตแยกเป็น 2 ทาง
เข้าใจ นางแบบ ชาวเน็ตส่วนหนึ่งเข้าใจความรู้สึกของนางแบบคนนี้ โดยบางรายระบุข้อความว่า "ขอโกรธแทนเลย ทำแบบนี้ได้ไง เป็นกำลังใจให้นะคะ" และอีกหลายคนมองว่าการกระทำของ ช่างภาพ ที่ใช้ AI ในการแต่ง และเปลี่ยนใบหน้าของนางแบบนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม และค่อนข้างทำร้ายความรู้สึกของเจ้าตัวไม่น้อย เพราะไม่มีการขออนุญาตหรือพูดคุยกันก่อน จึงเป็นเรื่องที่ไม่ให้เกียรตินางแบบที่ร่วมงานด้วย
ส่วนความคิดเห็นอีกฝั่งนั้นมองว่า ช่างภาพ ไม่ได้ผิดอะไร โดยระบุว่า "จ้างนางแบบ จ่ายเงินครบ ก็คือการจบงาน จบงานแล้วนิครับ ผมไม่เคยเห็นนางแบบอาชีพคนไหนมาไล่จี้ช่างภาพว่าถ่ายไม่ดี นางแบบไม่ชอบ เราต้องมองนะครับว่า อยู่ในฐานะอะไร งานใครงานมัน จบคือจบ" บางรายถึงขั้นแนะนำนางแบบคนนี้ว่า ให้คืนเงินค่าจ้างทั้งหมดไปแล้วขอให้ลบรูปออก
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 10 ระบุว่า งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้าง บุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้าง จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น