เด่นโซเชียล

ทาสแมวระวัง 'เชื้อราแมว' อันตรายใกล้ตัว ติดต่อจากแมวสู่คน เช็กความอันตราย?

ทาสแมวระวัง 'เชื้อราแมว' อันตรายใกล้ตัว ติดต่อจากแมวสู่คน เช็กความอันตราย?

23 เม.ย. 2567

เตือนทาสแมว ระวัง 'เชื้อราแมว' อันตรายใกล้ตัว ติดต่อจากแมวสู่คน เช็กอาการ ความอันตราย และวิธีการรักษาหลังรับเชื้อ ที่นี่

กรมการแพทย์ ชี้ "ทาสแมว" ระวังภัยใกล้ตัวจากสัตว์เลี้ยงสู่คน "เชื้อราแมว" เป็นเชื้อราที่สามารถก่อโรคในแมวได้ และสามารถติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเอง  รวมทั้งสามารถติดต่อมาที่มนุษย์ได้ พร้อมแนะ วิธีการรักษา และ การป้องกัน ที่ถูกวิธี

 

Facebook : กรมการแพทย์

"เชื้อราแมว" (Microsporum canis) เป็น เชื้อรา ที่สามารถก่อโรคในแมวได้ และสามารถติดต่อระหว่างแมวด้วยกันเอง  รวมทั้งสามารถติดต่อมาที่มนุษย์ได้ โดยเฉพาะคนที่ชอบสัมผัสกับแมว โดนแมวที่ติดเชื้อข่วนกัดหรือสัมผัสผิวหนังโดยอาจจะไม่ได้ทำความสะอาดหลังจากสัมผัส ทำให้เกิดการติด เชื้อรา เกิดภาวะโรคกลากแมวขึ้นมาได้ (Tinea infection)

 

นอกจากนี้ยังสามารถติดมาจากแมวที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ หรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อราแมว เช่น ขนแมว ตามบริเวณต่างๆ ได้ 

 

แมวที่เป็นโรคผิวหนัง อาจจะมีลักษณะดังนี้

  • ผิวหนังแดง แห้ง ลอกเป็นขุยๆ
  • มีขนหลุดเป็นหย่อมๆ บางบริเวณได้

 

ในขณะที่มนุษย์เมื่อมีอาการติด "เชื้อราแมว" มา จะมีอาการต่างๆ

  • เริ่มมีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ตามลำตัวหรือแขนขาที่สัมผัส
  • ลักษณะผื่นจะเป็นผื่นแดงขอบค่อนข้างหนา มองเห็นชัด รวมทั้งมีขุยสะเก็ด และขนาดวงมีขนาดใหญ่ขึ้นตามการกระจายของเชื้อราที่ผิวหนัง
  • คนไข้จะมีอาการคันตามผื่นแดงที่เป็นได้
  • บางครั้งมีการติดเชื้อที่หนังศีรษะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะและมีผมร่วงเป็นหย่อมได้

ทาสแมวระวัง \'เชื้อราแมว\' อันตรายใกล้ตัว ติดต่อจากแมวสู่คน เช็กความอันตราย?

ในกรณีที่ผู้ป่วยแกะเกามากจนเป็นแผล อาจจะพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนเพิ่มเติมได้ ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกวิธี มีโอกาสที่ผื่นลุกลามเป็นมากขึ้น หรือกระจายทั่วตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในคนที่มีภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอวิธีการรักษาเชื้อรากลากแมว

 

วิธีการรักษา"เชื้อราแมว"

สำหรับผู้ป่วย ในกรณีที่เป็นผื่นกลากแมวไม่รุนแรง มีผื่นรอยโรค 1-2  รอยโรค แพทย์จะให้ยาทาฆ่า เชื้อรา โดยที่จะต้องทายาต่อเนื่อง 3-4 สัปดาห์  อาการของผู้ป่วยจะดีขึ้นได้ สำหรับในกรณีที่เป็นผื่นหลายรอยโรค หรือหลายตำแหน่ง หรือได้รับการรักษาด้วยยาทาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือติด "เชื้อราแมว" ที่ศีรษะ แพทย์จะพิจารณาให้ยารับประทานยาต้าน เชื้อรา ตามที่แพทย์สั่งควบคู่กับยาทาต้านเชื้อราอย่างต่อเนื่อง นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

 

วิธีป้องกันตัวเอง

ขณะที่ นายแพทย์สุตศรัญย์ พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่าวิธีการป้องกันตนเองจาก "เชื้อราแมว" คนที่เลี้ยงแมว ควรที่จะหมั่นดูแลสุขภาพของแมวที่เลี้ยง ควรพาแมวไปฉีดวัคซีนตามกำหนด จัดสถานที่เลี้ยงให้สะอาด แยกโซนบริเวณให้เหมาะสม ในกรณีที่แมวเป็นโรคผิวหนังหรือรอยโรค

 

ควรพาแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา หลีกเหลี่ยงการสัมผัสแมวในช่วงที่แมวมีอาการหรือจนกว่าจะรักษาแมวจนหาย นอกจากนี้ไม่ควรที่จะคลุกคลีกับแมวมากเกินไป เช่น การเลี้ยงแมวบนเตียงหรือที่นอน ไม่ควรให้แมวสัมผัสหรือเลียใบหน้า หลังสัมผัสสัตว์เลี้ยง ควรที่จะทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสให้สะอาดทุกครั้งในทันที

 

ในกรณีที่คนไข้ติดเชื้อจากทางผิวหนังจากแมวแล้ว ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าให้สะอาด ด้วยสารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือใช้ความร้อนรีดเสื้อผ้าทั้งบริเวณด้านในและด้านนอก          

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : กรมการแพทย์