เด่นโซเชียล

อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัย กินยาพารา 2 เม็ด เสี่ยงตับพังจริงหรือไม่ แนะวิธีกินที่ถูก

อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัย กินยาพารา 2 เม็ด เสี่ยงตับพังจริงหรือไม่ แนะวิธีกินที่ถูก

07 มิ.ย. 2567

อ.เจษฎ์ ไขข้อสงสัย กินยาพารา ครั้งละ 2 เม็ด เสี่ยงตับพังจริงหรือไม่ พร้อมแนะวิธีการกินยาพาราที่ถูกต้องตามน้ำหนักตัว

7 มิ.ย. 2567 รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับการกินยาแก้ปวดอย่าง พาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาสามัญประจำบ้านว่า กินยาพาราครั้งละ 2 เม็ด เสี่ยงตับพังจริงหรือไม่ และมีข้อควรต้องระวังอย่างไรเมื่อต้องกินยาชนิดนี้

 

โดยอาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า ต้องบอกว่ามีอยู่ครั้งนึง ที่เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ถูกถกกันในโลกโซเชียลอย่างมากในตอนนั้น หลังจากที่มีคุณหมอท่านหนึ่งได้ออกมาเตือนว่า กินยาพารา ทีละ 2 เม็ด ตับพังไม่รู้ตัว ทำเอาหลายคนสงสัย เนื่องจากบนบรรจุภัณฑ์ยาระบุว่า สามารถทานได้ 1 - 2 เม็ด จนมาถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนสงสัยอยู่แน่นอน

 

ซึ่งในตอนที่มีการพูดถึงเรื่องนี้กันอยู่นั้น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงว่า 

ยาพาราเซตามอล เป็นยาสำหรับบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ในระดับปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดหัว ปวดข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และใช้เป็นยาลดไข้ แต่จะไม่พอสำหรับการปวดขั้นรุนแรง เช่น แผลผ่าตัดใหญ่ หรือมะเร็ง โดยมากที่มีจำหน่ายกัน จะมี 2 ขนาด คือ ขนาด 325 มิลลิกรัม และขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งต้องกินตามน้ำหนักตัว และการกินยาแต่ละครั้ง ควรกินห่างกันอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง และใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ เช่น ปวดหรือมีไข้ เท่านั้น

 

การกิพาราเซตามอล ในผู้ป่วยที่มีภาวะตับ และไต 

 

ยาพาราเซตามอล เป็นยาสำหรับบรรเทาปวดจากสาเหตุต่าง ๆ ในระดับปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดหัว ปวดข้อเสื่อม ปวดกล้ามเนื้อ และใช้เป็นยาลดไข้ แต่จะไม่พอสำหรับการปวดขั้นรุนแรง เช่น แผลผ่าตัดใหญ่ หรือมะเร็ง โดยมากที่มีจำหน่ายกัน จะมี 2 ขนาด คือ ขนาด 325 มิลลิกรัม และขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งต้องกินตามน้ำหนักตัว และการกินยาแต่ละครั้ง ควรกินห่างกันอย่างน้อย 4 - 6 ชั่วโมง และใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ เช่น ปวดหรือมีไข้ เท่านั้น

 

ทีนี้ตามปกติสำหรับผู้ป่วยทั่วไป คือ ผู้ที่มีภาวะตับและไตเป็นปกตินั้น จริง ๆ แล้ว ทางการแพทย์ระบุว่า ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถรับประทานยานี้ได้ 10 - 15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และใน 1 วัน ไม่ควรกินเกิน 4 พันมิลลิกรัม โดยไม่รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานาน และถ้าทานแล้วไข้ไม่ลดภายใน 3 วัน หรือ อาการปวดในเด็กไม่บรรเทาภายใน 5 วัน หรือในผู้ใหญ่ไม่บรรเทาภายใน 10 วัน ควรไปพบแพทย์

 

สามารถคำนวณ จำนวนเม็ดของยาพาราเซตามอลที่เหมาะสม ที่จะกินตามน้ำหนักตัวของเรา ได้ดังนี้

 

ยาพาราเซตามอล ขนาด 325 มิลลิกรัม

 

 

  • น้ำหนัก 45 - 67 กิโลกรัม กิน 2 เม็ด (จะเห็นว่ากินทีละ 2 เม็ด ได้โดยปลอดภัย)
  • น้ำหนัก 34 - 44 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
  • น้ำหนัก 22 - 33 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด

 

ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม

 

 

  • น้ำหนัก 67 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด (จะเห็นว่ากินทีละ 2 เม็ด ได้โดยปลอดภัย)
  • น้ำหนัก 51 - 67 กิโลกรัม กิน 1 เม็ดครึ่ง
  • น้ำหนัก 33 - 50 กิโลกรัม กิน 1 เม็ด

 

ยาพาราเซทามอล ยี่ห้อไทลินอล (Tylenol) ขนาด 650 มิลลิกรัม ชนิดเม็ดออกฤทธิ์นาน 8 ชั่วโมง

 

  • ผู้ป่วยอายุ 18 ปีขึ้นไป น้ำหนักตั้งแต่ 44 กิโลกรัมขึ้นไป กิน 2 เม็ด แต่ละครั้งห่างกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดหรือมีไข้
  • น้ำหนักน้อยกว่า 44 กิโลกรัม หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ให้ใช้ยานี้ เพราะจะได้รับยาเกินขนาดที่แนะนำ ซึ่งอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้

 

สำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 22 กิโลกรัม ก็ไม่ควรรับประทานยาพาราเซตามอลแบบเม็ดทุกขนาด ควรเข้าพบแพทย์โดยตรงเพื่อปรึกษาอาการและยาที่ควรใช้ (จริง ๆ สำหรับเด็กเล็ก จะกินเป็นแบบยาน้ำเชื่อม แล้วแพทย์จะช่วยคำนวณตามน้ำหนักตัวให้ ว่ากินกี่ซีซี)


ข้อควรระวังในการกินยาพาราเซตามอล

 

  • ห้ามกินยาพารา ขนาด 500 มิลิลกรัม เกิน 8 เม็ดต่อวัน หรือ 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ห้ามกินยากับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลเสียต่อตับ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยาอื่นที่มีพาราเซตามอลเป็นส่วนประกอบ เช่น ยาแก้หวัดบางชนิด ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด เพราะอาจทําให้ได้รับยาเกินขนาด
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ หากดื่มสุราเป็นประจํา เป็นโรคตับหรือโรคไต
  • หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการ เช่น บวมที่ใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก ลมพิษ หน้ามืด ผื่นแดง ตุ่มพอง ผิวหนังหลุดลอก ให้หยุดยาและรีบปรึกษาแพทย์ทันที
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้หากมีภาวะพร่องจีซิกซ์พีดี (G6PD) หรือกำลังใช้ยาวาร์ฟารินซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดหนึ่ง เพราะอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ง่ายกว่าผู้อื่น
  • เก็บในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท พ้นแสงแดด และความร้อน เก็บให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง อย่าเก็บในที่ชื้น เพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพ