โซเชียลผุด #saveทับลาน ค้านเฉือนป่าทับลานกว่า 2.6 แสนไร่
ใครได้ประโยชน์? โซเชียลผุด #saveทับลาน ค้านเฉือนป่ากว่า 2.6 แสนไร่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เผยข้อกังวล 7 ข้อ หวั่นกระทบพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ของกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่
อุทยานแห่งชาติทับลาน
อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปักธงชัย อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีป่าลานซึ่งหาดูได้ยากที่มีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น มีต้นลานขึ้นตามธรรมชาติ เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำลำธารต่าง ๆ และมีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น หุบผา หน้าผา น้ำตก นับว่าเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับสองของประเทศไทย รองจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"
8 ก.ค. 2567 จากกรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับประเด็น การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดยการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลาน มีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่
เกี่ยวกับประเด็นนี้ โซเชียลแห่ติดแฮชแท็ก #saveทับลาน ต่างมีการรณรงค์ลงชื่อคัดค้าน เพราะหวั่นว่าผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์กว่า 265,000 ไร่ จะหายไป ล่าสุด มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาร่ายยาวถึงประเด็นนี้ ระบุว่า กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน - 12 กรกฎาคม 2567
1. ท่านเห็นชอบการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (ONE MAP) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลาน หรือไม่ อย่างไร?
2. เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็น ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหา ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน หรือไม่ อย่างไร?
3. มั่นใจหรือไม่ว่า ราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกร ที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือไปอยู่ในมือของนายทุน
4. การใช้แนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี พ.ศ. 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่?
5. จะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ อย่างไร? ในเมื่อพื้นที่อื่น ๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
6. เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ เพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ หรือไม่ อย่างไร?
7. จะส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่?
ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีข้อกังวลว่า การจัดการของภาครัฐในลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น