เด่นโซเชียล

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงป่วยฝีในตับ อันตรายถึงตาย

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงป่วยฝีในตับ อันตรายถึงตาย

11 ก.ค. 2567

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงเป็นฝีในตับ หมอเผยสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หากพบสัญญาณเตือน รีบพบแพทย์โดยด่วน อันตรายถึงตาย

11 ก.ค. 2567 "หมอมนูญ" นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เตือนเรื่อง "ฝีในตับ" จากเชื้อแบคทีเรีย

 

โดย "หมอมนูญ" ยกเคส ผู้ป่วยหญิงอายุ 84 ปี เป็นโรคหอบหืด มีไข้สูง 2 วัน หนาวสั่น สับสน ไม่ปวดท้อง ไม่ไอ มาโรงพยาบาล วันที่ 15 มิถุนายน 2567 ความดันโลหิตต่ำ 77/44 มม. ปรอทอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส หัวใจเต้นเร็ว 130 ครั้งต่อนาที ต้องรับเข้าห้องไอซียูทันที

 

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงป่วยฝีในตับ อันตรายถึงตาย

ตรวจร่างกาย มีไข้สูง ฟังปอดปกติ คลำท้องไม่เจ็บ ตับไม่โต เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวในเลือดสูง 29,300 ค่าเอนไซม์ตับสูงเล็กน้อย SGOT 87, SGPT 73 ทำอัลตราซาวด์ ช่องท้องด้านบน พบก้อนในตับข้างซ้ายขนาด 2.8 × 2.4 × 2.4 เซนติเมตร ส่งเลือดเพาะเชื้อ ขึ้นเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae ทำคอมพิวเตอร์ช่องท้อง 2 วันต่อมา พบก้อนขนาด 3.3 × 3.3 × 2.8 ซม. ในตับข้างซ้าย เข้าได้กับ "ฝีในตับ"

 

ผลการวินิจฉัย "ฝีในตับ" จากเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae และติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้ช็อค ความดันต่ำ

 

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงป่วยฝีในตับ อันตรายถึงตาย

การรักษา ให้น้ำเกลือ ยากระตุ้นความดันโลหิต และยาปฏิชีวนะ ceftriaxone ทางหลอดเลือดดำ (ทดสอบแล้วในห้องปฏิบัติการว่าเชื้อตัวนี้ไวต่อยา) ได้ทำการเจาะหนองจากฝีในตับผ่านทางหน้าท้อง ได้หนอง 2 ซีซี ส่งหนองเพาะเชื้อขึ้นเชื้อ Klebsiella pneumoniae ตัวเดียวกับในเลือด

 

หลังได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ คนไข้ดีขึ้น ไข้ลดลง ความดันกลับมาเป็นปกติ ไม่ปวดท้อง ติดตามอัลตราซาวด์ของช่องท้องด้านบน 18 วัน หลังได้ยาปฏิชีวนะ พบฝีขนาดเล็กลงเหลือ 2.1 × 1.9 เซนติเมตร

 

หลังได้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ในโรงพยาบาล 3 สัปดาห์ กลับบ้านได้ ให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานอย่างน้อยต่ออีก 3 สัปดาห์ และจะติดตามคอมพิวเตอร์ช่องท้องอีกครั้ง หลังได้ยาปฏิชีวนะครบแล้ว

 

คนไข้รายนี้เป็นผู้สูงอายุ ป่วยหนักมาก จาก "ฝีในตับ" และติดเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae ในกระแสเลือด โชคดีมาโรงพยาบาลเร็ว นอนรักษาในโรงพยาบาล 3 สัปดาห์กลับบ้านได้

เตือนภัย ใครมีอาการเหล่านี้ เสี่ยงป่วยฝีในตับ อันตรายถึงตาย

 

 

 

ขณะที่ข้อมูลจาก สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย เผยว่า "ฝีในตับ" เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ทำให้เกิดเป็นหนองในเนื้อตับ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

 

 

ฝีในตับเกิดจากอะไร?

ฝีในตับแบ่งตามเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค ที่พบบ่อยคือ

  • เชื้อแบคทีเรีย (pyogenic liver abscess)
  • เชื้ออะมีบา (amoebic liver abscess)

 

ซึ่งทางที่เชื้อเหล่านี้จะเข้าไปที่ตับมาได้หลายทาง ได้แก่ ผ่านทางท่อน้ำดี กระแสเลือด เส้นเลือดดำพอร์ทัล อวัยวะข้างเคียงที่มีการติดเชื้อ ทะลุเข้าสู่ตับโดยตรง หรือ ไม่ทราบสาเหตุ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเป็นฝีในตับคือ โรคเบาหวาน ตับแข็ง อายุมาก เพศชาย ภูมิต้านทานบกพร่อง การใช้ยาลดกรด ผ่าตัดเปลี่ยนตับ หรือ มีโรคเกี่ยวกับท่อน้ำดีอื่น ๆ

 

 

อาการผู้ป่วยฝีในตับ

อ่อนเพลีย มีไข้ (อาจมีหนาวสั่นหรือไม่ก็ได้) ปวดแน่นท้องใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ถ่ายเหลว ตรวจร่างกายอาจพบตาเหลืองหากมีสาเหตุจากท่อน้ำดีอุดตันร่วมด้วย ตับโต กดเจ็บบริเวณตับ หากเป็นมากอาจมีความดันโลหิตต่ำ หรือ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนคือมีน้ำในเยื่อหุ้มปอดด้านขวา ทำให้มีอาการหายใจลำบากหรือเจ็บชายปอดขวาเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ได้

 

 

วิธีรักษาโรคฝีในตับ

การให้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสมให้ตรงกับเชื้อ และ ถ้าหากฝีมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสแตกก็จำเป็นต้องรักษาโดยการเจาะระบายหนองร่วมด้วย โดยระยะเวลาการให้ยาปฏิชีวนะขึ้นกับขนาดของฝี ในช่วงแรกจะเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำ หากอาการดีขึ้นก็เปลี่ยนเป็นยาชนิดรับประทานต่อ โดยให้จนกว่าฝีจะหายไป ดูจากการตรวจทางรังสีวิทยา

 

 

ที่มา : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC,สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย