ไลฟ์สไตล์

”ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า”ปิดฉากเด็กไร้รัฐไร้การศึกษา

”ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า”ปิดฉากเด็กไร้รัฐไร้การศึกษา

20 มิ.ย. 2554

ก่อนหน้านี้ คม ชัด ลึก ได้นำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กชาวไทใหญ่ 2 คน โดยหนึ่งคนดิ้นรนรอนแรมกลางป่าหลบหนีภัยสงครามและความยากจน อีกหนึ่งคนติดตามแม่ออกจากรัฐฉาน ประเทศพม่า เข้ามาทำมาหาเลี้ยงชีวิตใน จ.เชียงใหม่ "น้องสา" สุนิสา คำหลู่ และ "น้องหมวย" จันจีรา จั

ได้มีโอกาสเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ แหล่งศึกษาใจกลางเมือง ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) เชียงใหม่ เขต 1 จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนสำหรับเด็กที่ไม่ใช่เด็กไทยแต่อยู่อาศัยบนแผ่นดินไทย ซึ่งเฉพาะเมืองเชียงใหม่น่าจะมีกลุ่มเด็กเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ไม่น้อยกว่า 2,000 คน

 กว่าที่ห้องเรียนแห่งนี้จะเป็นรูปเป็นร่างจนรองรับเด็กๆ เข้าเรียนหนังสือได้จริง นายโกศล ปราคำ ผอ.สพป.เชียงใหม่เขต 1 บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มจากการชี้เป้า ค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอ แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีตัวตนจริงและอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง ก่อนออกเอกซเรย์ทุกตารางนิ้วของพื้นที่เป้าหมาย เพื่อสำรวจสำมะโนประชากรเด็กก่อนและวัยเรียนทุกครัวเรือนของประชากรกลุ่มนี้ ตามด้วยการเฝ้าระวัง ไม่ให้เด็กที่ตามตัวเจอหายไปจากระบบอีกครั้ง โดยทำฐานข้อมูลที่ทันสมัย ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง ก่อนประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต จากนั้นทำการสังเคราะห์หาวิธีและรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับกลุ่มเด็กเป็นการเฉพาะ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน

 เมื่อสำรวจทุกอย่างแล้วเสร็จ ได้กราบขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดป่าเป้าขอใช้พื้นที่วัดเปิดเป็นศูนย์การเรียนให้แก่เด็กไร้รัฐ ช่วงแรกๆ ประชาสัมพันธ์ให้คนเหล่านี้ส่งลูกมาเข้าเรียนผ่านวิทยุชุมชนชาวไทยใหญ่ และเจ้าอาวาสให้ข้อมูลในวัดสำคัญทางศาสนาซึ่งกลุ่มคนไทยใหญ่จะมาทำบุญ ผ่านไปเรื่อยๆ ก็เกิดการบอกปากต่อปาก

 “ทั้งหมดต้องการให้เด็กไร้รัฐที่เข้ามาอยู่เชียงใหม่ ได้มีทักษะชีวิต ทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยเพื่อใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน เรียนรู้คณิตศาสตร์ระดับพื้นฐาน รวมถึงดูแลให้เด็กมีสุขภาพร่างกาย สมบูรณ์ แข็งแรง ได้รับภูมิคุ้มกันโรค เหนืออื่นใด เด็กจะได้มีความรู้ความเข้าใจต่อการปฏิบัติตนที่ดีในขณะที่อยู่เมืองไทย และเผยแพร่ให้คนกลุ่มเดียวกันรู้ เขาจะได้มีจิตสำนึกที่ดีต่อประเทศไทย” นายโกศลกล่าว

 ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้าจึงถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 เวลา 2 ปี ปัจจุบันศูนย์การเรียนแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กไร้รัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่ มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 รวมทั้งสิ้น 219 คน โดยใช้หลักสูตรการเรียนการสอนตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนด นอกเหนือจากนี้ เด็กจะได้เรียนเป็นหลักสูตร 3 ภาษาควบคู่กัน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาไทยใหญ่ ภาษาอังกฤษ และได้มีการทดลองเปิดสอนภาษาจีนโดยนักศึกษาจีนที่เข้ามาเรียนภาษาไทยใน จ.เชียงใหม่

 เด็กทุกคนที่เข้ามาเรียนที่ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า จะถูกคัดด้วยความรู้ภาษาไทย หากยังอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่ได้ ต้องเข้าเรียนในระดับชั้นอนุบาล 1 ดังนั้น นักเรียนชั้นอนุบาลของศูนย์การเรียนแห่งนี้บางคนจึงมีอายุมากกว่า 10 ปี โดยนักเรียนทุกคนในระดับชั้น ป.4 มีชื่ออยู่ในโรงเรียนบวกครกน้อย แต่เรียนที่ศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า เมื่อวุฒิการศึกษาที่ออกโดยโรงเรียนชุมชนบ้านบวกครกน้อย ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสพป.เชียงใหม่ เขต 1 เช่นเดียวกัน

 “การเรียนการสอนไม่เพียงเป็นไปตามสาระความรู้ที่กระทรวงกำหนดเท่านั้น ที่สำคัญ เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้ความเป็นชาติไทย วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทย เพื่อให้พวกเขาได้ซึมซับเรื่องราวของประเทศไทย ประเทศที่เขาเข้ามาอยู่ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง ที่นี่จึงให้เด็กเรียนหลักสูตรไทยใหญ่ด้วย” นายโกศลกล่าวถึงการจัดการเรียนการสอน

 แน่นอนว่า การจัดตั้งศูนย์การเรียนแล้วรับเด็กไร้รัฐเข้ามาเรียนหนังสือ เป็นความผิดฐานให้ที่พักพิงแก่บุคคลที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ใช่ผู้กระทำความผิด ถือเป็นผู้บริสุทธิ์

 “หลายคนบอกผมว่าทำแบบนี้ไม่กลัวเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือ แต่ผมพบว่า จากการถามเด็ก 10 คน เด็ก 9 คนจะตอบว่าไม่กลับประเทศของตัวเอง ลองนึกดู หากเราไม่ให้การศึกษากับกลุ่มเด็กเหล่านี้ ไม่ให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กับพวกเขาและไม่ให้เข้าเรียนรู้และซึมซับความเป็นไทย อนาคตอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เชื่อว่าคงเกิดปัญหากับประเทศอย่างมหาศาล ถ้าเขาไม่รู้ถึงความดีของประเทศที่เขาอาศัย” นายโกศลกล่าวให้คิด

 การจัดการเรียนการสอนให้เด็กไร้รัฐของศูนย์การเรียนวัดป่าเป้า ตอบโจทย์การจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของกลุ่มนักเรียน ประสบความสำเร็จหรือไม่ สะท้อนได้ดีจากการบอกเล่าของน้องสาและน้องหมวย ซึ่งพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รักเมืองไทย จะไม่ทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศไทย”

 0 พวงชมพู ประเสริฐ 0 รายงาน