เขี้ยวมากเกินไป
บัตร Easy Pass หายไปพร้อมกับกระเป๋าที่ถือเป็นประจำ จึงแวะที่ด่านทางด่วน เพื่อขอทำบัตรใหม่ เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ต้องเสียค่าทำบัตรใหม่ 100 บาท
ดิฉันเห็นว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาผู้บริโภคต้องเสียค่ามัดจำ 1,000 บาท ในการติดตั้งเครื่องมือเพื่อสแกนผ่าน และได้บัตรเติมเงินมาพร้อมกัน หากจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายโดยคิดเฉพาะต้นทุน น่าจะไม่เกิน 20-30 บาท
ทำให้ดิฉันย้อนคิดได้ว่า ก่อนหน้านี้ เวลาเติมเงินจะได้รับส่วนลด 5% ทันที แต่เดี๋ยวนี้การทางพิเศษฯ ไม่ได้ให้ส่วนลด แต่นำเงินส่วนลดไปบวกเข้าเป็นเงินเพิ่มในบัตร เช่น เติมเงิน 1 หมื่นบาท ถ้าได้รับส่วนลดทันที เราจะได้รับเงินทอน 500 บาท ซึ่งหากเรานำเงิน 500 บาทนี้ไปเติมเงินต่อ เราจะได้รับเงินทอน 25 บาท ซึ่งรวมแล้ว ค่าของเงินจะมากกว่า 10,525 บาท แต่ปัจจุบันการทางฯ จะนำเงิน 500 บาทที่ได้ลด ไปบวกไว้ในบัตรรวมเป็น 10,500 บาท
คำว่า “เขี้ยวมากเกินไป” คงไม่เกินจริง ไม่ใช่ลูกค้าจะไม่รู้เท่าทัน แต่เห็นว่าเล็กๆ น้อยๆ พอรับได้ และเพื่อความสะดวกของทุกฝ่าย จึงไม่ได้คิดอะไรมาก
การทางพิเศษฯ ต้องคิดใหม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาเอาเปรียบลูกค้า แต่ต้องถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า เพราะบัตรอื่นๆ ที่หายไปพร้อมกัน ดิฉันจ่ายเฉพาะค่าทำบัตรประชาชน 20 บาทเท่านั้น ทั้งที่คุณภาพบัตรประชาชนดีกว่าบัตร Easy Pass มาก
การทางพิเศษฯ อย่าลืมคิดถึงภาพลักษณ์องค์กร อย่าเห็นว่าลูกค้าทางด่วนเป็นกลุ่มที่ไม่มีทางเลือก จึงตัดสินใจทำแบบนี้
ขาประจำทางด่วน
ตอบ
นางสมจิต รัตนาฤทธิ์นนท์ ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า ผู้ใช้บริการทางพิเศษที่สมัครใช้บัตร Easy Pass ครั้งแรก จะได้รับบัตร Smart Card ที่ใช้ในการเติมเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ไม่รวมกับค่าประกันบัตร Easy Pass จำนวน 1,000 บาท ลดเหลือ 800 บาท)
กรณีบัตร Smart Card หาย หรือชำรุด กทพ. จะต้องสั่งซื้อบัตรจากผู้ผลิต ดังนั้น เพื่อจัดทำบัตรใหม่ให้แก่ผู้ประสงค์จะขอทำบัตรใหม่ จึงจำเป็นต้องเก็บค่าบัตรเป็นจำนวนเงิน 100 บาท
ลุงแจ่ม