
กูเกิลพลัสฮุกขวาตุ้ยท้องใส่เฟซบุ๊ก
เปิดดูกล่องจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ช่วงนี้อาจได้รับอีเมลแนะนำให้มาร่วมก๊วน "จีเมล พลัส" บริการเครือข่ายสังคม หรือโซเชียลมีเดียที่กูเกิลตั้งใจเอามาล้มแชมป์เฟซบุ๊ก
“กูเกิล พลัส” (http://plus.google.com) เครือข่ายสังคมออนไลน์น้องใหม่จากกูเกิลเปิดตัวตั้งแต่ปลายเดือนที่ผ่านมา สร้างความฮือฮาด้วยช่วงทดลองที่เปิดให้ใช้เฉพาะคนที่กูเกิลส่งคำเชิญไปให้เท่านั้น เพื่อทดสอบระบบและดูผลการตอบรับ ทำเอาบรรดาคอไอทีกระดี๊กระด๊าอยากจะมีส่วนร่วมเล่นของใหม่จนเกิดการซื้อ-ขายคำเชิญใช้กูเกิลพลัสกันคึกคัก
แน่นอนว่า กูเกิล พลัส ถูกจับตาว่าเกิดมาเพื่อบี้เฟซบุ๊ก ที่ตอนนี้คนมากกว่า 700 ล้านคนทั่วโลกกำลังคลุกคลีตีโมงอยู่ในนั้นจากหน้าเพจหลักที่ดูเรียบง่ายต่อการใช้
จุดเด่นของกูเกิลพลัสไม่ใช่แค่สังคมออนไลน์ธรรมดา แต่เป็นเหมือนศูนย์รวมเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ ของกูเกิลเข้าด้วยกัน ทั้งจีเมล, กูเกิล ทอล์ก, กูเกิล แม็พ และอื่นๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการรูป วิดีโอ เอกสารต่างๆ ไว้ได้ง่าย
เมื่อสมัครเข้าใช้งาน ผู้ใช้จะมีเครื่องมือลัดบนเนวิเกชั่น บาร์ บริเวณมุมบนขวา ที่มีทั้งการตั้งสถานะ อัพโหลดรูปภาพ วิดีโอ ลิงค์เว็บไซต์ รวมถึงตำแหน่งที่อยู่บนกูเกิล แม็พ รวมถึงเข้าใช้จีเมลค้นหาบนกูเกิลได้อีกด้วย
กูเกิล พลัส มีส่วนสตรีม (Stream) ที่คล้ายหน้าวอลล์ของเฟซบุ๊ก ซึ่งสามารถอัพเดทสถานะ และแชร์รูป วิดีโอเพื่อให้เพื่อนมาแสดงความเห็น แม้ไม่มีสัญลักษณ์ถูกใจให้กด "ชอบ" แต่ก็มีเครื่องหมาย +1 มาทดแทน
ช่องสำหรับ "อัพสเตตัส" หรือแจ้งข่าวคราวบนกูเกิล พลัส สามารถตกแต่งตัวอักษรให้เป็นตัวหนา ตัวเอียง หรือเครื่องหมาย - และยังใจกว้างไม่จำกัด 420 ตัวอักษรเหมือนเฟซบุ๊กหรือ 114 ตัวอักษรของทวิตเตอร์
นอกจากนี้ คุณสมบัติเด่นๆ มีตั้งแต่ “ก๊วน หรือ Circles” ที่ช่วยให้เราจัดหมวดหมู่เพื่อนบนกูเกิลพลัสได้ง่ายดาย สามารถแชร์บางข้อความบนสเตตัส บางลิงค์ บางรูป หรือบางวิดีโอเฉพาะเพื่อนกลุ่มนั้นๆ เพียงแค่คลิกลากเพื่อนมาลงก๊วนที่กำหนด หรือจะเลือกตั้งก๊วนใหม่ก็ทำได้
“แฮงก์เอาท์ (Hangouts)” ต่อยอดมาจากกูเกิล ทอล์ก ซึ่งระบบวิดีโอแชทแบบกลุ่มที่ไม่ใช่แค่คุยกันเห็นหน้าเพื่อน แต่ยังสามารถแชทพร้อมกันได้มากสุดถึง 10 คน และ “ฮัดเดิลส์ (Huddles)” บริการข้อความเฉพาะกลุ่มเพื่อนบนกูเกิล พลัส ที่ไม่ต่างจากวอทส์แอพ (Whatsapp) บนไอโฟน หรือบีบีเอ็ม (BBM) ในแบล็กเบอร์
ภาพ วิดีโอ หรือลิงค์ที่ดูจากเว็บไซต์ต่างๆ แล้วถูกอกถูกใจ อยากจะอัพโหลดมาแชร์ให้เพื่อน ก็สามารถใช้ “อินสเตนท์ อัพโหลด (Instant upload)” ที่คล้ายทวิตพิค หรือพิคพลาซ่า แต่แตกต่างตรงที่สามารถเลือกได้หลังอัพโหลด จึงจะเลือกแชร์ให้ไซเคิลส์กลุ่มไหน
ที่น่าสนใจ คือ ระบบแท็กรูป ที่นอกจากจะมีเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเหมือนเฟซบุ๊ก ยังมีการกำหนดสิทธิ์ของคนโดนแท็ก โดยจะมีข้อความแจ้งเตือน หรือ Notification มายังผู้ถูกแท็กว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธการติดแท็กในรูป ลดโอกาสเจอสแปมขายของแบบไม่รู้ตัวเหมือนที่หลายคนเจอบนเฟซบุ๊ก
แม้ระบบรักษาความเป็นส่วนตัว กูเกิล พลัส มีภาษีดีกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ และอื่นๆ
อดใจรอให้กูเกิล พลัส เปิดตัวโครงการแบบเต็มรูปแบบ ไม่แน่ว่า บรรดาประชากรชาวเฟซบุ๊กอาจอพยพเข้าไปสู่อาณาจักรกูเกิล พลัสไม่มากก็น้อย ต้องรอดูว่า เฟซบุ๊กจะขยับ ปรับเพิ่มอาวุธอะไรมาสู้อีก
สำหรับหลายคนที่สนใจ และอยากจะดาวน์โหลดมาไว้บนโทรศัพท์มือถืออาจจะต้องเช็กรุ่นสักหน่อย เพราะปัจจุบัน กูเกิล พลัส มีโมบาล แอพที่รองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เท่านั้น คอเกมก็เช่นกัน อาณาจักรนี้ ยังไม่มีเกมสักกะผีก แต่คงไม่นาน เพราะกูเกิลซื้อบริษัทพัฒนาเกมบนสังคมออนไลน์มาแล้ว เป็นสัญญาณดีว่า เกมบนกูเกิล พลัสจะมาให้เห็นในไม่ช้านี้
สาลินีย์ ทับพิลา