ไลฟ์สไตล์

"กวาวเครือขาว" เกรดเภสัชกรรม 
ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่แดนปลาดิบ

"กวาวเครือขาว" เกรดเภสัชกรรม ต่อยอดผลิตภัณฑ์สู่แดนปลาดิบ

12 ก.ค. 2554

การบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับบริษัท โคคัน ฟาร์มาซูติคอล อินสติติวท์ จำกัด นับเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศไทย เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ลงนามความร่วมมืออนุญาตให้บริษัทดังกล่าวเป็นผู้แทนจำหน่ายกวาวเครื

           รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือระหว่าง Mr. Agiteru Go ประธานบริษัท โคคัน ฟาร์มาซูติคอล อินสติติวท์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ซื้อกวาวเครือขาวเกรดเภสัชกรรม ซึ่งผลงานวิจัยของสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และขออนุญาตใช้ชื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการระบุแหล่งที่มาของกวาวเครือขาวสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท อีกทั้งขอเป็นผู้แทนจำหน่ายกวาวเครือขาวเกรดเภสัชกรรมที่ผลิตโดยสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ แต่เพียงผู้เดียวในประเทศญี่ปุ่น

          "เป็นครั้งแรกที่มีการส่งออกกวาวเครือขาวเกรดเภสัชกรรมที่ผลิตโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังประเทศญี่ปุ่น และการร่วมมือนี้นับเป็นการบุกเบิกการส่งออกกวาวเครือขาวจากการเพาะปลูกอย่างถูกต้องของประเทศไทยไปยังตลาดประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังจะเป็นโอกาสทำให้มีการส่งออกผลิตภัณฑ์พืชสมุนไพรอื่นๆ จากการเพาะปลูกไปยังตลาดประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่นด้วย"

          ด้าน รศ.อุทัย คันโธ ผู้อำนวยการสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยว่า ที่ผ่านมาสถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้วิจัยการใช้กวาวเครือขาว (Pueraria mirifica) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ซึ่งได้ผลดีมากและยังได้มีการพัฒนาพันธุ์กวาวเครือขาว ซาดี 190 (SARDI 190) ที่เหมาะสำหรับการปลูกเชิงการค้า ให้ผลผลิตสูง และมีสารออกฤทธิ์ไฟโตเอสโตรเจน (phytoestrogen) ในปริมาณสูง รวมทั้งได้พัฒนากระบวนการแปรรูปหัวกวาวเครือขาวให้อยู่ในรูปชิ้นแห้งและผงแห้ง ทั้งสำหรับเกรดเภสัชกรรมและเกรดอาหารสัตว์จำหน่ายแก่ผู้สนใจทั่วไปด้วย
 
          "ที่บริษัท โคคัน ให้ความสนใจ ผลงานวิจัยกวาวเครือขาวเกรดเภสัชกรรมของสถาบัน เนื่องมาจากบริษัทได้วิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์ผงกวาวเครือขาวที่ผลิตโดยสถาบันแล้วพบว่ามีคุณภาพสูงมาก อีกทั้งเป็นกวาวเครือขาวที่ได้จากระบบการปลูกที่มีมาตรฐานสูงและเป็นการปลูกแบบอินทรีย์โดยไม่มีการใช้สารเคมี เพราะก่อนหน้านี้บริษัทได้นำเข้ากวาวเครือขาวจากประเทศอื่น" รศ.อุทัยเผยข้อมูล 
 
          อย่างไรก็ตามการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับบริษัท โคคัน ฟาร์มาซูติคอล อินสติติวท์ จำกัด ยังเป็นโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปกวาวเครือขาวข้างต้นให้เป็นสินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือสำเร็จรูปในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทย และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาลในอนาคตอีกด้วย