ไลฟ์สไตล์

แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก

แผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก

25 ก.ค. 2554

บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก คือ การบาดเจ็บบริเวณผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความร้อน ทั้งความร้อนแห้ง คือ เปลวไฟ วัสดุร้อน เช่น เตารีด เป็นต้น หรือความร้อนเปียก เช่น น้ำร้อน กาแฟร้อน เป็นต้น

 สาเหตุอื่นที่อาจทำให้บาดเจ็บบริเวณผิวหนังได้อีก เช่น สารเคมี กระแสไฟฟ้า และกัมมันตรังสี เป็นต้น และมักเรียกรวมๆ ว่า บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
 บาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะเป็นบาดแผลที่พบได้บ่อย บาดแผลมีความเจ็บปวดมาก การรักษาใช้เวลานาน ค่าใช้จ่ายสูง และอาจทำให้สูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีจากรอยแผลเป็น ตลอดจนเกิดการพิการได้ หากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นบริเวณกว้าง จำเป็นต้องพักรักษาในโรงพยาบาล เพราะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง ความรุนแรงของบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก สามารถแบ่งออกได้ตามความลึกของแผล และขนาดของแผล ดังนี้
การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามความลึก
 1.First degree burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังกำพร้า บาดแผลเจ็บไม่มาก และมักจะหายเองภายใน 1 สัปดาห์ โดยไม่มีแผลเป็น บาดแผลพวกนี้ เช่น บาดแผลจากการถูกแสงแดดเป็นเวลานาน (Sun burn)
 2.Superficial second degree burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนที่อยู่ตื้นๆ บาดแผลพวกนี้จะเจ็บมาก บางครั้งพองเป็นตุ่มน้ำใสๆ ถ้ารักษาอย่างถูกต้องมักจะหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ มักไม่มีแผลเป็นหลงเหลือ
 3.Deep second degree burn เป็นการบาดเจ็บในชั้นหนังแท้ส่วนลึก บาดแผลพวกนี้จะเจ็บมากเช่นกัน ดูแยกยากจากบาดแผลประเภทที่ 2 การรักษาใช้เวลานานมากขึ้น บางครั้งมีแผลเป็นเกิดขึ้นได้
 4.Third degree burn เป็นแผลบาดเจ็บที่ทำลายผิวหนังทุกชั้นจนหมด บาดแผลพวกนี้จะไม่เจ็บมาก เพราะเส้นประสาทรับความเจ็บปวดจะถูกทำลายไปด้วย บาดแผลจะมีสีค่อนข้างซีด บางครั้งจะมีเนื้อตายแข็งๆ คลุมแผลอยู่ การรักษาจะยุ่งยากมากขึ้น จำเป็นต้องเลาะเนื้อตายออก และจะต้องทำการผ่าตัดเอาผิวหนังมาปลูกถ่าย (skin grafting) ยกเว้นบาดแผลขนาดเล็กมาก อาจทำแผลจนหายเองได้ แต่จะมีแผลเป็นตามมา
 การแบ่งบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกตามขนาดของแผล นิยมบอกขนาดของแผลใหญ่เป็นจำนวนเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวของร่างกาย (Body surface area) โดยขนาด 1 ฝ่ามือของผู้ป่วยรวมนิ้วมือทั้ง 5 นิ้ว จะมีขนาดประมาณ 1% ของพื้นที่ผิวร่างกาย หรือแบ่งตาม Rules of nines เช่น แขนแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 9% ของพื้นที่ผิวร่างกาย ขาแต่ละข้างจะมีพื้นที่ผิวประมาณ 18% ของพื้นที่ผิวร่างกาย เป็นต้น บาดแผลขนาดใหญ่ หรือบาดแผลลึก ก็จะต้องรับการรักษาที่ซับซ้อนมากกว่าบาดแผลขนาดเล็ก หรือบาดแผลตื้น
การรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก
 เมื่อได้รับการบาดเจ็บ เบื้องต้นควรล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่า หรือหากบาดแผลสกปรกมาก อาจใช้สบู่อ่อนชะล้างสิ่งสกปรกออกไปก่อน จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่ามากๆ หากทำได้ให้ใช้น้ำเย็น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง ประคบบริเวณแผลโดยเร็วที่สุด และประคบอยู่อย่างน้อย 15 นาที แต่ไม่ควรเกิน 30 นาที ห้ามใช้น้ำแข็ง หรือน้ำเย็นจัดประคบ เพราะอาจทำให้บาดแผลลึกมากขึ้นได้ จากนั้นใช้ผ้าสะอาดปิดแผล และไปพบแพทย์ ไม่ควรใช้ยาสีฟัน หรือครีมอื่นใดชะโลมบนแผล เพราะอาจทำให้แผลมีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น
 ปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก (Burn) มีความก้าวหน้าไปมาก มีวัสดุปิดแผลใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีหลายชนิด การเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้องและการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ ทำให้ผู้ป่วยลดความทุกข์ทรมานจากบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ลงได้มาก บาดแผลหายเร็วขึ้น และแผลเป็นก็ลดลง ดังนั้น หากมีบาดแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว 
โรงพยาบาลกรุงเทพ
โทร.1719