ไลฟ์สไตล์

ดนตรีไทยคืนถิ่นอัมพวา

ดนตรีไทยคืนถิ่นอัมพวา

11 ส.ค. 2554

ดนตรีไทยคืนถิ่นอัมพวา : เรื่องและภาพ พัชราภรณ์ พลายงาม

          ประเทศไทยนับได้ว่าเป็นเมืองที่มากด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม ทั้งด้านขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมดนตรีไทยที่มีท่วงทำนองเสนาะไม่แพ้ชนชาติใด หากแต่คนไทยรู้หรือไม่ว่า แหล่งวัฒนธรรมที่มากด้วยมนต์คลังของสุนทรีย์นั้น มาจากชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งริมฝั่งลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งปัจจุบันคืออำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

          สายชลธีแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดของดุริยกวี 5 แผ่นดิน ศร ศิลปบรรเลง หรือ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ ผู้มากด้วยฝีมือบรรเลงระนาดและการประพันธ์เพลงไทยเดิม ชื่อของศร ศิลปบรรเลง เลื่องลือด้วยการได้มีโอกาสแสดงเดี่ยวระนาดเอกถวาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช พร้อมทั้งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่ต้องพระทัยเป็นอย่างมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ในวังบูรพาภิรมย์ เพื่อฝึกปรือการดนตรีกับพระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) ต่อมาได้สร้างผลงานและชื่อเสียงเอาไว้ตั้งแต่รัชสมัยของ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนปัจจุบัน จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ

          ด้วยเหตุนี้มูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ จึงร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เล็งเห็นความสำคัญในการสืบทอดมรดกดนตรีไทย กอปรกับปีนี้เป็นวาระ 130 ปี ของบรมครูทางดนตรีท่านนี้ จึงจัดแถลงข่าวงานมหกรรมดนตรีไทย ในชื่อ “ศิลปะบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ 1” ขึ้น ที่เรือนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยบรรยากาศแบบไทยรวมทั้งยังมีดนตรีร่วมสมัยจากวงขุนอิน มาบรรเลงภายในงาน

          ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เผยถึงวัตถุประสงค์ โดยต้องการให้อำเภออัมพวาเป็นศูนย์กลางของดนตรีไทย พร้อมทั้งจุดประกายการพัฒนาดนตรีไทยในอนาคต และให้คนในชุมชนได้เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึง 1 ใน 5 ของกระบวนการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ นั่นคือการให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อเป็นรากฐานความยั่งยืนของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ก็เพื่อหวนรำลึกถึงเกียรติคุณของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ผู้ถือกำเนิดที่อัมพวาและสร้างชื่อเสียงให้แก่ท้องถิ่นในระดับชาติและนานาชาติอีกด้วย

          ขณะที่ อ.อัษฎาวุธ สาคริก คณะกรรมมการมูลนิธิหลวงประดิษฐ์ไพเราะ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นเหลนของท่านกล่าวว่า อัมพวาถูกเรียกว่าเป็น “ลุ่มน้ำแห่งวงปี่พาทย์” สมัยก่อนที่แห่งนี้มีวิถีชีวิตที่หลากหลาย นอกจากจะดำรงอยู่ด้วยการเกษตรกรรมและการค้าแล้ว ยังผูกพันกับเสียงดนตรีและเพลงไทยเดิม เนื่องด้วยสมัยอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ลุ่มน้ำอัมพวาเป็นถิ่นที่มีวงปี่พาทย์มากนับร้อยวง และได้รับการไว้วางใจจากพระราชวงศ์รวมไปถึงเจ้าขุนมูลนายมาโดยตลอด

          จนมาถึงยุคการปกครองของจอมพลปอ พิบูลสงคราม มีการเข้าครอบงำของอิทธิพลตะวันตก สังคมไทยถูกกีดกั้นจากเสียงของดนตรีไทย เพลงพื้นบ้าน รวมไปถึงนาฏศิลป์ต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้วงปี่พาทย์ในอำเภออัมพวาค่อยๆ เลือนหายไป ทางมูลนิธิจึงเล็งเห็นความสำคัญและอยากหวนรำลึกถึงถิ่นอัมพวาที่เป็นดั่งสายน้ำแห่งสุนทรีย์ จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อคืนถิ่นบรมครูแห่งดนตรีไทย พร้อมทั้งเผยแพร่และอนุรักษ์ความเป็นไทยให้คนรุ่นหลังได้โจษจัน

          ด้วยเป็นงานที่ต้องการให้คนรุ่นหลังได้ประจักษ์แก่คุณค่า จึงมีการแสดงเดี่ยวระนาดเอก ของ น้องกามเทพ ธีรเลิศรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาการดนตรีศึกษา คณะครุศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เยาวชนแห่งบ้านดนตรี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งนอกจากจะมาบรรเลงเพลงด้วยระนาดให้ฟังแล้ว ยังกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการฝึกฝนดนตรีไทยว่า

          "ระนาดเอกนอกจากเป็นเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งที่ชื่นชอบแล้ว ยังมีเสน่ห์และโดดเด่นที่สุดในวงปี่พาทย์ สิ่งที่ได้รับจากการฝึกฝน คือ การได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดภาวะการเป็นผู้นำมากขึ้น ที่สำคัญกว่านั้นเป็นการฝึกความรับผิดชอบ เนื่องจากระนาดเอกเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีนำในวง หากขาดก็จะทำให้การบรรเลงไม่มีความสมบรูณ์ไพเราะ สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะในการเรียน ซึ่งถ้าขาดความความรับผิดชอบ ก็จะไม่สามารถทำสิ่งใดสำเร็จได้" เยาวชนคนดนตรี เผย

          เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจเหลือเกิน ที่ประเทศไทยยังมีเอกลักษณ์ที่เป็นตัวเอง ไว้ให้คนอื่นได้จดจำ ดังนั้นคนไทยก็ควรช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริมให้ยังคงอยู่ เพื่อเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมอันมั่นคงต่อไป