'เส้นไหม'ผลิภัณฑ์คุณภาพ
วิจัยเส้นไหมสู่ผลิตภัณฑ์คุณภาพทางเพิ่มรายได้กลุ่ม"ผู้เลี้ยงไหม"
ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในภาคอีสานจะสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องฝีมือการถักทอที่มีความละเอียดประณีตสวยงาม มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับความสนใจจากทั้งในและต่างประเทศ แต่ทว่ายังมีจุดด้อยในเรื่องการแปรรูปจากใยไหมเป็นเส้นด้ายนั้นกระบวนการผลิตยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ส่งผลให้เส้นไหมไม่แข็งแรง เส้นด้ายมักขาดบ่อยครั้งในระหว่างการถักทอผ้าไหม
ด้วยเหตุนี้เองทำให้ทีมนักวิจัยจากกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดย สมหญิง ชูประยูร นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหม่อนไหน ได้ศึกษาวิจัยกระบวนการผลิตเส้นด้าย เริ่มจากการดูแลตัวไหมให้มีความสมบูรณ์แข็งแรงเพื่อจะได้เส้นใยที่มีคุณภาพจนถึงกระบวนการผลิตเส้นด้ายเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมต่อไป
"เราได้รับทุนจากสภาวิจัยจำนวน 5 แสนบาทเมื่อปีที่แล้ว เพื่อนำไปศึกษาวิจัยเส้นทางสายไหม เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงตัวไหม การผลิตเส้นด้ายจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไปส่งเสริมแนะนำกระบวนการผลิตตามหลักวิชาการในพื้นที่ 13 จังหวัดในภาคอีสาน โดยมีกลุ่มหลักอยู่ที่ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด เพราะมีผู้เลี้ยงไหมค่อนข้างมาก จากการที่ได้ลงพื้นที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านพบว่าส่วนใหญ่ยังทำกันตามแบบดั้งเดิมที่ได้รับการสืบทอดกันมา ทำให้บางครั้งผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากเส้นไหมไม่มีคุณภาพ"
สมหญิง ชูประยูร เผยถึงเหตุผลในการใช้เทคโนโลยีปรับปรุงคุณภาพเส้นไหมเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ โดยมีกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อจะได้เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อันนำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชาวบ้านที่ยึดอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมจากประสบการณ์ที่ผ่านมาร่วม 30 ปีเราเห็นว่าการวิจัยหม่อนไหมเพื่อสาธารณะมีค่อนข้างน้อย ทั้งๆ ที่หม่อนไหมนั้นถือเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากชาวบ้านที่ยึดอาชีพดังกล่าวนี้มีรายได้ไม่แพ้อาชีพหลักอย่างทำนาทำไร่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน
เจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงานวิจัยคนเดิมระบุอีกว่า การพัฒนาเส้นไหมไทยจะเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับของการตลาดเป็นอย่างดี ซึ่งจากการที่ได้ไปส่งเสริมฝึกอบรมกระบวนการผลิตและมีการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า สามารถใช้เทคโนโลยีร่วมกับภูมิปัญญาของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการต่อยอดโดยเน้นให้เขานำสีธรรมชาติมาใช้ในผลิตภัณฑ์อีกด้วย
"จากการศึกษาวิจัยมา 1 ปี ทำให้มองเห็นว่าศักยภาพของเกษตรกร ถ้ามีการเสริมงานวิจัยโดยให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมจะเกิดผลโดยเร็ว จะเห็นว่าเพียงแค่ 1 ปีที่ผ่านมา เส้นไหมจากเดิมที่ชาวบ้านขายกันกิโลกรัมละ 900 บาท มาวันนี้เขาขายได้ราคาเพิ่มขึ้นถึง 1,200-1,300 บาทต่อกิโลกรัม ถือเป็นการยกระดับระดับผลิตภัณ์ของเราได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวเส้นมีมาตรฐาน"
อย่างไรก็ตาม สมหญิง ย้ำด้วยว่า ผลสำเร็จจากงานวิจัยชิ้นนี้ นอกจากพัฒนาคุณภาพเส้นไหมให้ได้มาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มเส้นไหมทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ยังเป็นตัวจักรสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งเป็นโครงการสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญ อันจะนำไปสู่เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศต่อไปในอนาคตอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่สวยงามหลากรูปแบบ ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยของสมหญิง ชูประยูร และคณะ ร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสาน 17 จังหวัดสามารถชมและร่วมอุดหนุนได้ในงาน Thailand Research Expo 2011 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ระหว่างวันที่ 26-30 สิงหาคม ที่จะถึงนี้
"สุรัตน์ อัตตะ"