ไลฟ์สไตล์

'ปลาสวายโมง'สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่

22 ส.ค. 2554

'ปลาสวายโมง'สัตว์น้ำเศรษฐกิจตัวใหม่ โดย... ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

          จากที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกับสถานีประมงน้ำจืด จ.นครพนม ดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตปลาสวายโมงแบบครบวงจรนั้นปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมสนับสนุนเกษตรกรนำไปเลี้ยงเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อีกทั้งหนังปลายังสามารถสกัดคอลลาเจน สู่อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และเครื่องสำอางอีกด้วย
 
          ดร.สมร พรชื่นชูวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา บอกว่า โครงการวิจัยพัฒนาเพื่อรผลิตปลาสวายโมงแบบครบวงจรจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับกรมประมงน้ำจืด จ.นครพนม เพื่อพัฒนาปลาลูกผสมระหว่างปลาสวายเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตไข่หรือออกลูกมากกับปลาโมงซึ่งอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำในภาคอีสานโดยเฉพาะในแม่น้ำโขง ที่รสชาติของเนื้ออร่อย ราคาแพง เป็นที่ต้องการของตลาด แต่ให้ผลผลิตลูกน้อยกว่าปลาสวายถึง 7 เท่า ซึ่งการผสมนั้นได้ทำการวิจัยการนำน้ำเชื้อปลาโมงแช่แข็งมาผสมกับปลาสวาย เพื่อผลิตปลาลูกผสมสวายโมงขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)
  
          "ปลาโมงเป็นปลาเนื้อขาวที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดแถบกลุ่มประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันประเทศเวียดนามเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกปลาโมงมากที่สุดในโลก แต่เนื่องจากปลาโมงเป็นปลาที่เลี้ยงยาก มีเนื้อมากราคาในท้องตลาดกิโลกรัมละ 150-200 บาท แต่ให้ไข่น้อยคือออกลูกเฉลี่ยครั้งละ 50-200 กรัม โดย 1 กรัม จะมีไข่ประมาณ 250 ฟองแต่ปลาสวาย มีอัตราการออกลูกมากกว่าถึง 7 เท่า แต่มีราคาถูกกิโลกรัมละ 60-70 บาท ทีมงานวิจัยทำการผสมพบว่าลูกที่ออกมาคือปลาสวายโมงออกลูกเฉลี่ยครั้งละ 700 กรัม โดย 1 กรัม จะมีไข่ 1,200-1,500 ฟอง และขาย กก.ละ 150-200 บาท จึงเป็นอีกแนวทางที่จะส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงเพื่อส่งออก เพราะช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น" ดร.สมร กล่าว
  
          นอกจากปลาสวายโมงจะมีราคาดีแล้ว ตามโครงการนี้ยังมีการศึกษาในการสกัดคอลลาเจนจากหนังปลาสวายโมงที่สามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ และเครื่องสำอางอีกด้วย ตรงนี้ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าอีกทางหนึ่ง