
ขับบทเพลงพระราชนิพนธ์กล่อม
ขับบทเพลงพระราชนิพนธ์ กล่อมพระหน่อนาถสู่สวรรคาลัย
เสียงร้องขับกล่อมประสานกับเครื่องดนตรีไทย บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ที่ กัญจนปกรณ์ แสดงหาญ ข้าราชการวงปี่พาทย์นางหงส์ กองการสังคีต กรมศิลปากร เอื้อนเสียงในช่วงเวลาประโคมย่ำยาม ในพระราชพิธีบำเพ็ญกุศล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินให้ข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป ที่มาถวายสักการะพระศพให้คลายโศกเศร้าแล้ว ยังมีความตั้งใจแสดงถึงการเผยแพร่บทพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่แสดงถึงการปลุกใจคนไทยให้มีความปรองดอง รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ดั่งคำกล่าวของนักร้องหนุ่มจากกรมการสังคีตคนนี้ ที่ขอมาบอกเจตนาจากบทเพลงดีๆ ให้ชาวไทยได้เข้าใจในความเป็นห่วงอนาคตเหล่าราษฎรของพระมหากษัตริย์สมัยก่อน
ความรู้สึกที่ได้มาร้องเพลงถวายหน้าพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในงานพระศพ การได้ทำอะไรให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ถือเป็นเกียรติอันสูงสุดของชีวิต กรมการสังคีตไทยเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จริงๆ พวกเราก็คือข้าราชการในกรมมหรสพกลาง ในสมัยของพระองค์ท่าน จนกลายมาเป็นกรมศิลปากรในทุกวันนี้ เรียกง่ายๆ คือเราเป็นข้าราชบริพารธรรมดาที่ถูกโอนย้ายมาในส่วนของข้าราชการกรมศิลปากร เพราะฉะนั้นเราจึงมีความผูกพันกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณกับข้าราชบริพาร ที่มีความสามารถในเรื่องของนาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปินเป็นอย่างมาก
ที่มาของการร้องเพลงถวาย
เรามาขับกล่อมเพลงในวันนี้ได้ เพราะพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเล็งเห็นว่ารัชกาลที่ 6 มีบทเพลงพระราชนิพนธ์ และบทละครที่สามารถเตือนใจคนในยุคปัจจุบันได้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้มีการขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์ในช่วงประโคมย่ำยาม ในช่วง 6 โมงเย็น ให้เหล่าข้าราชบริพารและประชาชนได้รับฟังเกิดคำถาม และสนใจเรียนรู้ในเรื่องของดนตรีไทย และพระราชพิธี อีกทั้งส่งเสริมความสามัคคีจากเนื้อหาของเพลงที่ส่งเสริมให้คนรักชาติ รัชกาลที่ 6 ทรงมีความเป็นนักจิตวิทยาสูง พระองค์ท่านจะสั่งสอนคนผ่านสื่อที่ในรูปแบบของการดนตรี การละคร และเพลงร้อง อย่างเช่นเพลงสมารัง ที่ถึงแม้ว่ามันจะเป็นแค่เนื้อร้องสั้นๆ แต่ฟังแล้วจะรู้ว่าเนื้อสามารถสอนพวกเราได้ว่า การรักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และถาวรวัตถุไว้ดีอย่างไร เรียกได้ว่าทรงเป็นอัครมหาศิลปินก็ว่าได้
และเนื่องจากพระองค์ท่านเป็นพระธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 อะไรก็แล้วแต่ที่เป็นความชอบหรือพระราชกรณียกิจที่พระบิดาทำไว้ พระองค์ท่านจะสานต่อเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในเรื่องเพลงและบทละครที่รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ จะใส่พระทัยและโปรดในการรับฟังมาก การได้มาขับร้องในครั้งนี้จึงถือเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และส่งเสด็จพระองค์ท่านไปสู่สวรรคาลัยด้วยบทเพลงที่พระองค์ท่านโปรด
ต้องคัดเลือกเพลงและเรียบเรียงอย่างไร
เพลงที่นำมาร้องทั้งหมดเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เรียนนาฏศิลป์จนได้อยู่ในกรมการสังคีต หลายๆ บทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนของนักดนตรีไทยทุกคนอยู่แล้ว ส่วนเพลงพิเศษที่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวโปรดก็มีหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น ลมพัดชายเขา เพลงปลาทอง เพลงตะนาวแปลง อย่างเนื้อร้องเพลงสุนทราภรณ์ดังๆ และเพลงปลุกใจรักชาติที่บอกว่า "อย่าเห็นแก่ตัว มัวพะวง" หรือที่ได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือเพลงรักชาติบ้านเมืองที่ว่า "เรานี้เกิดมาแล้วชาติหนึ่ง ควรคำนึงถึงชาติศาสนา ไม่ควรให้เสียทีที่เกิดมา ในหมู่ประชาชาวไทย ในหมู่ประชาชาวไทย แม้ใครตั้งจิตต์รักตัว จะมัวนอนนิ่งอยู่ไฉน ควรจะร้อนอกร้อนใจ เพื่อให้พรั่งพร้อมทั่วตน ชาติใดไร้รักสมัคสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล แม้ชาติย่อยยับอับจน บุคคลจะสุขอยู่อย่างไรฯ" ถ้อยคำเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านที่ถูกดึงออกมาทำเป็นเพลงของอีกสมัย หรือที่คุ้นหูกันก็คือเพลงสยามานุสสติก็เป็นพระราชนิพนธ์ของพระองค์ท่านเช่นกัน
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เคยรับสั่งขอเพลงใดเป็นพิเศษหรือเปล่า
เมื่อตอนผมประมาณอายุ 27 ปี เคยมีโอกาสได้ถวายงานให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ตอนนั้นทรงไม่ได้ขอเป็นชื่อเพลงแต่ตรัสเนื้อร้องออกมาว่า "อยากฟังเพลงที่ร้องว่า สายัณห์ตะวันยอแสง..." จากนั้นพวกเราก็รู้ทันทีว่านั่นคือเพลงตะนาวแปลง จากเรื่องวิวาห์พระสมุทร คิดว่าท่านต้องโปรดเพลงนี้มาก ในพระราชพิธีพระศพก็จะนำกลับมาร้องอีกแน่นอน
ตอนนี้มีลิสต์เพลงเยอะไหม แล้วจะเล่นเวลาไหนบ้าง
ตอนนี้เรารวบรวมเพลงพระราชนิพนธ์มาได้กว่า 100 เพลงแล้ว เริ่มร้องมาตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม จนครบกำหนดพระราชพิธี 100 วัน และประโคมย่ำยามจะมีขึ้นทุกวันตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึงเที่ยงคืนเป็นประจำ โดยวงปี่พาทย์นางหงส์ ที่ผูกเพลงไว้ในเรื่องนางหงส์ใช้บรรเลงประโคมศพเท่านั้น เครื่องดนตรีประกอบด้วยปี่ชวา ปี่ใน ระนาดทุ่ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก และตะโพน บรรเลงเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน เพลงสาวสอดแหวน เพลงแสนสุดสวาท เพลงแมลงปอ เพลงแมลงวันทอง โดยมีศิลปินกลุ่มดุริยางค์ไทยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร จำนวน 5 กลุ่ม กลุ่มละ 8 คน มาสลับกันบรรเลงในแต่ละวัน พิธีการนี้ใช้ในงานพระราชพิธีพระศพมาตั้งแต่อดีต รวมถึงในพระราชพิธีของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ด้วย แต่ความพิเศษของงานพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ คือการมีนักร้องหญิงชายมาสลับขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ให้ เพราะพระองค์ท่านทรงมีความผูกพันกับบทเพลงเหล่านี้มาก
อยากให้ประชาชนได้รับรู้อะไรจากการขับร้องครั้งนี้บ้าง
ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้รับฟังดนตรีไทยที่แท้จริงน้อยมาก งานศพในปัจจุบันส่วนมากก็ใช้เทปเปิด น้อยคนที่จะรู้ว่าทำไมถึงต้องใช้วงดนตรีไทยในงานศพ เครื่องดนตรีไทยมีอะไรบ้าง เนื้อเพลงในงานศพต้องเป็นอย่างไร และนอกจากเราจะมาไว้อาลัยส่งเสด็จท่านสู่สวรรคาลัยแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือผู้ฟังจะได้รู้ว่าสมัยก่อนมีการขับร้องแบบนี้จริงๆ เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลย รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งเนื้อร้องทำนองและให้คงไว้ทั้งหมด เป็นของดั้งเดิมที่หาฟังยาก และเราทุกคนต้องช่วยกันสืบทอดต่อไป
เสียงเพลงอันไพเราะที่เกิดขึ้นจากความอาลัยรัก ณ สถานที่แห่งนี้ จะยังคงบรรเลงอยู่ในใจผู้ที่ได้รับฟังต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีใครลืมเลือนดนตรีไทย