ไลฟ์สไตล์

ประยุกต์เลี้ยงปลาทับทิมในบ่อ

06 ก.ย. 2554

นำ'ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม' ประยุกต์เลี้ยงปลาทับทิมในบ่อ โดย...

        หลังจากที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำเทคโนโลยีในการเลี้ยงกุ้งขาวที่มีคุณภาพมาตรฐาน ภายใต้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ “ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม” ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดซีพีเอสได้ถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีดังกล่าวไปให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาทับทิมรายย่อยในพื้นที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา จากเดิมที่เคยเลี้ยงปลาทับทิมในกระชังตามลุ่มน้ำต่างๆ มาเลี้ยงในบ่อดิน เนื่องจากสภาพของแหล่งน้ำธรรมชาติมีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งจะเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยและทวีความรุนแรงมาก

        การนำเทคโนโลยี “ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม” ไปใช้ในการเลี้ยงปลาทับทิมในบ่อนั้น อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสซีพีเอฟ บอกว่า เป็นการเลี้ยงปลานิลในรูปแบบของการเลี้ยงปลาในบ่อดินบนบก ที่มีการจัดการตามมาตรฐานของซีพีเอฟ ปรากฏว่า ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้สู่เกษตรกรรายย่อย ตามแนวคิดการตอบแทนสังคมในด้านการสร้างงานสร้างอาชีพและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกร เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรจากภัยธรรมชาติ และยังสามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทาน ที่มีแหล่งน้ำที่สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้

        การเลี้ยงปลาในบ่อดินนั้น แต่ละบ่อจะมีขนาด 3-6 ไร่ จากนั้นนำกระชังมากางในบ่อดินเพื่อเลี้ยงปลาในลักษณะคล้ายกับที่เลี้ยงในบ่อธรรมชาติ โดยมีโปรแกรมการเลี้ยงและมีการจัดการคุณภาพน้ำ ตามมาตรฐานซีพีเอฟ เกษตรกร 3 เดือนก็สามารถจับปลาทับทิมออกสู่ตลาดได้แล้ว หากเฉลี่ยแล้วภายใน 1 ปี จับปลาขายได้กว่า 35 ครั้ง หรือ 2 ปี 7 ครั้ง ที่สำคัญสามารถควบคุมคุณภาพปลา และปริมาณปลาที่ออกสู่ตลาดได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีด้วย นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมความแปรปรวนของธรรมชาติให้ลดน้อยลง สังเกตได้จากที่ผ่านมาเกษตรกรจะได้ผลผลิตที่ดีกว่าและมีรายได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

        วิฑูร สุนทรเสณี เกษตรกรเจ้าของบางปะกงฟาร์ม อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่นำเทคโนโลยีซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม มาใช้ในการเลี้ยงปลาทับทิม บอกว่า มีอาชีพเลี้ยงปลามากว่า 10 ปีแล้ว แต่เป็นการเลี้ยงด้วยวิธีการเอากระชังลงแม่น้ำ โดยเริ่มจาก 5 กระชัง พอมีรายได้เพิ่มจึงขยายการผลิตขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 460 กระชัง กระทั่งปี 2547 เกิดปัญหาแม่น้ำบางปะกงเน่าเสีย ทำให้ค่าออกซิเจนในน้ำ หรือดีโอ (DO) จากปกติอยู่ที่ 5 ลดลงต่ำสุดอยู่ที่ 1 ทำให้สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยในแม่น้ำตายหมด รวมถึงการลี้ยงปลากระชังจำนว 460 กระชังกว่า 2 แสนตัว เหลือเพียงราว 1,000 ตัวเท่านั้น เสียหายกว่า 9 ล้านบาท ภายในคืนเดียว ทำให้ท้อใจ เลยหยุดเลี้ยงไป

        กระทั่งปี พ.ศ.2550 ซีพีเอฟแนะนำเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาทับทิม "ซีพีเอฟ เทอร์โบ โปรแกรม" จึงได้เข้าศึกษาดูงานทั้งที่ฟาร์มสาธิตของซีพีเอฟ และภูมิพัฒน์ฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มตัวอย่างของเกษตรกรอีกรายหนึ่งในโครงการของซีพีเอฟ ทำให้ตัดสินใจกลับมาเลี้ยงปลาทับทิมอีกครั้ง ด้วยการตัดสินใจยกกระชังขึ้นบก โดยใช้พื้นที่ของฟาร์มที่มีอยู่ แบ่งมาขุดเป็นบ่อเลี้ยงปลา 3 บ่อ และบ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำอีก 1 บ่อ มีพื้นที่รวม 20 ไร่ เลี้ยงได้ 200 กระชัง และมีระบบการจัดการคุณภาพน้ำที่ดี เพื่อทำให้ปลาทับทิมมีการเจริญเติบโตที่ดี ปัจจุบันบางปะกงปล่อยลูกปลาทับทิมขนาดตัวละ 100 กรัม ใช้เวลา 3 เดือนก็จับขายได้แล้ว จากเดิมที่ปล่อยลูกปลาทับทิมขนาดตัวละ 30 กรัม ต้องใช้เวลา 5 เดือน เทียบแล้วรายการเลี้ยงในบ่อดินจะมีรายได้ดีกว่า และลดปัญหาความเสี่ยงอีกด้วย

        ก็นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกของเกษตรกรผู้เลี้ยงในอนาคต