ไลฟ์สไตล์

รู้จักกับดีไซเนอร์'ก้อย สุวรรณเกต'

รู้จักกับดีไซเนอร์'ก้อย สุวรรณเกต'

17 ก.ย. 2554

ไฮฮอตวันเสาร์ :ความถนัดชักพาดีไซเนอร์'ก้อย สุวรรณเกต'

        ฝีมือคนไทยไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องทำให้คนทั้งโลกสะดุดตาได้เสมอ ทั้งสถาปัตยกรรมอันน่าหลงใหล สิ่งของเครื่องใช้ที่มีความละเอียดละออ รวมไปถึงเสื้อผ้าอาภรณ์ที่หลายคนมองว่าแฟชั่นที่แท้จริงอยู่ในกำมือของชาวยุโรป แต่ทว่ายังมีชาวไทยกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างผลงานดีไซน์สะเทือนวงการแฟชั่นโลกได้ และ "ก้อย" นันทิรัตน์ สุวรรณเกต คือ หญิงไทยที่นำชื่อตัวเองมาใช้เป็นแบรนด์ ก้อย สุวรรณเกต (Koi Suwannagate) เสื้อผ้าราคาเรือนแสนในเมืองลองแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ที่เซเลบริตี้และดาราฮอลลีวู้ดอย่าง มิเชล โอบามา นิโคล คิดแมน เดมี มัวร์  โอปราห์ วินฟรีย์ และอีกหลายคนติดปากเวลาออกไปช็อปปิ้ง จนนิตยสารโว้กจัดให้เธออยู่ในสิบอันดับดีไซเนอร์ ที่น่าจับตามองมากที่สุด ซึ่งจุดเริ่มต้นของความสำเร็จครั้งนี้เริ่มต้นเพียงเงิน 36 ดอลลาร์สหรัฐ และจักรเย็บผ้าหนึ่งตัวเท่านั้น เมื่อมีโอกาสได้ซักถามถึงชีวิตที่นักออกแบบทุกคนใฝ่ฝันจากเจ้าตัวทั้งที จึงได้รู้ว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้มาจากปาฏิหาริย์ตัวเธอคนเดียวที่เป็นคนกำหนดชะตาตัวเองเท่านั้น

ตอนเด็กๆ เคยวาดฝันเอาไว้อย่างไรบ้าง

        ตอนเด็กๆ ก้อยไม่เคยรู้เลยว่าเราอยากเป็นอะไร จนกระทั่งเรามาทำตรงนี้ก็ยังไม่เคยมีความฝันอะไร รู้แค่ว่าเราชอบแฟชั่น เราชอบศิลปะ ชอบการตัดเย็บ ไม่เคยคิดว่าทุกวันนี้เราต้องมาทำแบรนด์ของตัวเองเลย เรียกได้ว่าก้อยไม่ได้ทำตามฝันแต่ทำตามความถนัดของตัวเองในตอนนั้นมากกว่า เป็นคนเรียนไม่เก่งด้วยแหละ เลยลุยไปทางศิลปะอย่างเดียว ตอนจะเรียนต่อก็ไม่ได้แพลนว่าจะเรียนเกี่ยวกับอะไรไว้ล่วงหน้า เห็นแค่ว่าหลักสูตรนี้น่าเรียนก็เข้าไปเรียนเลย อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่วิชาการมากเราทำได้หมด

ทำอย่างไรให้แบรนด์ของตัวเองเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

        รูปแบบเสื้อผ้าของก้อยมีเอกลักษณ์กว่าคนอื่นมั้ง คือ มองเสื้อปุ๊บรู้เลยว่าเป็นเสื้อของก้อยไม่ต้องพลิกหาป้ายยี่ห้อ อีกอย่างคงเป็นงานที่ละเอียดในเรื่องของสีสัน เนื้อผ้าแคชเมียร์ มีดอกไม้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกชุดด้วยคนเลยจำได้ ซิกเนเจอร์เหล่านี้ก้อยไม่ได้หานะแต่เกิดขึ้นเอง การทำงานของก้อยไม่มีการสเก็ตซ์ล่วงหน้ากว่าจะได้เสื้อผ้า 1 ชิ้น ต้องเอาเสื้อมาขึ้นหุ่นก่อนดูว่าเสื้อแบบนี้จะทำให้เข้ากับรูปร่างผู้หญิงได้ยังไง จนได้ทรงเสื้อแล้วมาเริ่มงานประดับทีหลัง ตอนที่จะเริ่มสร้างแบรนด์เราก็ใช้เสื้อผ้าแปลกๆ หรือมือสองตามตลาดนัดแฟชั่นทั่วไป เอามาขึ้นโครงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนมันได้แบบที่เออ...เราไม่เคยเห็นที่ไหนนะ ก็ลองเอาสไตล์ที่ได้มาลองทำขายทีละนิดๆ ขายให้เพื่อนบ้าง ฝากขายในร้านบ้าง ปรากฏว่ามีคนชอบให้การตอบรับดีมาก ก็ถือว่าเราจับมาถูกทาง เป็นโอกาสดีที่ก้อยต้องคว้าไว้

ส่วนใหญ่นำแรงบันดาลใจมาจากไหนบ้าง

        งานของเราส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องธรรมชาติและรูปทรงผู้หญิง แต่เวลาทำคอลเลกชั่นแต่ละซีซั่นต้องมีส่วนต่างกันมากหน่อย เลยต้องพยายามหาแรงบันดาลใจต่างๆ มาดึงกรอบความคิดให้มันแคบลง อย่างวันว่างก้อยชอบปลูกต้นไม้ ทำสวน ชอบแต่งบ้าน ทำกับข้าว จริงๆ ไลฟ์สไตล์เราเหมือนผู้หญิงธรรมดาเลยนะ ช่วงหลังมานี้งานก้อยเริ่มลงตัว ได้คนมาช่วยแบ่งเบางานไปเยอะก็เลยมีเวลาทำอะไรโลดโผนมาหน่อยอย่างเช่น ดำน้ำ ขี่ม้า กีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ เพราะเรารู้ตัวมาตลอดว่า เป็นคนมีความบู๊อยู่ในตัวเยอะมาก ได้มาทำอะไรที่ตื่นเต้นทำให้เรารู้สึกเหมือนเด็กที่สดใส มีความคิดใหม่ลื่นไหลในหัวตลอดเวลา

ใช้เวลาในการดีไซน์เสื้อผ้ามากน้อยแค่ไหน

        ก้อยทำงานวันละ 14 ชั่วโมง ทั้งออกแบบ ตัดเย็บ รวมถึงวางแผนงานโชว์คอลเลกชั่นต่างๆ เสื้อหนึ่งตัวบอกไม่ได้เลยว่าต้องอยู่กับเขานานแค่ไหน เพราะอย่างที่บอกว่าก้อยไม่ได้วาดแบบไว้ล่วงหน้า เราเลยใช้เวลาเยอะมากกับการค่อยๆ ประดิดประดอยใส่ใจกับการใส่รายละเอียด บางทีครึ่งชั่วโมงเราขึ้นโครงเสื้อได้แล้ว แต่ใช้เวลาอีก 8 ชั่วโมงในการดูรายละเอียดอีกครั้งก็มี

มีลูกค้าคนดังที่เข้ามาอุดหนุนอย่างไม่ขาดสายประทับใจใครมากที่สุด

        ลูกค้าแต่ละคนมีความพิเศษไม่เหมือนกัน แต่ที่ประทับใจและอยากรู้จักมากคือผู้หญิงญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเป็นคนลึกลับมากสั่งซื้อเสื้อผ้าของก้อยทุกเดือนทุกคอลเลกชั่นแต่ไม่ยอมเปิดเผยว่าเป็นใคร เขาจะให้ลูกน้องโทรมาสั่งทางโทรศัพท์และส่งแฟกซ์ติดต่อกัน แม้แต่ตัวแทนที่ติดต่อมาก้อยก็ยังไม่รู้ว่าเขาเป็นใครเลย แต่รู้ได้ว่าเขาเป็นลูกค้าที่ใส่ใจแบรนด์ก้อยมาก เพราะทุกครั้งที่สั่งเขาจะกำหนดมาเองว่าให้ลดเอวกี่นิ้ว เพิ่มตรงไหนอีกบ้าง ทั้งที่เรายังไม่เคยเจอไม่เคยได้วัดตัวด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เราเรียกเขาว่ามาดามลึกลับ หลายคนบอกว่าผู้หญิงคนนี้คือนางฟ้าประจำตัวก้อยเลยนะ (หัวเราะ) ตอนนี้ก้อยกำลังทำคอลเลกชั่นให้เขา 1 ชุด เป็นเสื้อผ้าแบรนด์ก้อยที่จะไม่มีใครได้ใส่นอกจากมาดามลึกลับคนนี้

เสื้อผ้าของแบรนด์โดนเลียนแบบบ้างหรือเปล่า

        นี่แหละค่ะเป็นเรื่องน่าเบื่อในวงการแฟชั่นก้อยโดนเป็นประจำ แบรนด์เล็กมาเลียนแบบบ้าง แบรนด์ใหญ่มาเลียนแบบก็มีเยอะ ก็คิดไปว่ามันเป็นวงจรของธุรกิจด้านนี้นั่นแหละที่ว่าปลาใหญ่ต้องกินปลาเล็ก แต่ช่วงเวลาที่ก้อยคิดว่าจะไม่เป็นดีไซเนอร์แล้วนะเกิดขึ้นบ่อย แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์และสถานการณ์รอบตัวอื่นๆ ในตอนนั้นมากกว่า เช่น เรื่องอุปสรรคการทำงาน เพราะก้อยทำงานคนเดียวบางทีมันก็เหนื่อย การโดนก๊อปไม่เคยทำให้ท้อเลยเป็นเรื่องเล็กมาก

ถ้าดีไซเนอร์อยากจะโกอินเตอร์แบบนี้ต้องทำอย่างไรบ้าง

        เรื่องนี้มีคนมาถามบ่อยเหมือนกัน แต่ตอบไม่ได้เต็มที่หรอกว่าต้องทำอย่างไร เพราะตัวเองก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องโกอินเตอร์นะ มันเป็นไปเองตามโอกาสและสถานการณ์ที่ก้อยได้เจอ แนะนำได้ว่าถ้าคุณจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับที่ไหน คุณต้องลองไปอยู่ที่นั้นเลย อยากโกอินเตอร์ก็ต้องไปดูให้รู้ว่าฝั่งยุโรปเขาต้องการอะไร แบรนด์เราเข้ากับไลฟ์สไตล์เขาได้ไหม ก้อยมองว่าแบรนด์ไทยไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องเป็นชุดไทยเป็นลายไทย มันขึ้นอยู่กับเอกลักษณ์และตัวตนเรามากกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับกาลเทศะในที่ที่เราอยู่มากกว่า

อยากให้ฝากถึงยังดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ที่อยากจะเดินตามเส้นทางของ ก้อย สุวรรณเกต สักนิด

        ดีไซเนอร์หน้าใหม่ของไทยที่เก่งๆ มีอยู่เยอะนะ รู้สึกว่าพวกเขาทำงานกันดีอยู่แล้ว เอาเป็นว่าจะขอเป็นกำลังใจให้แก่พวกน้องๆ แล้วกัน สำคัญที่สุดคืออย่ายอมแพ้ก็พอ ถ้ามีความฝันเมื่อไรจะต้องทำมันให้ถึงที่สุด อยากทำอะไรก็ทำให้สุดไปเลย ไม่ต้องกลัวล้มเพราะเรายังเด็ก ยังมีโอกาสอีกมากมายรออยู่เสมอ ขอแค่มั่นใจและอยากที่จะทำก็พอ

        สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้มากกว่าคำพูดนั่นคือ "พลัง" และ "พรสวรรค์" ที่คุกรุ่นอยู่ภายในตัวดีไซเนอร์คนนี้ "พลัง" ที่ผลักดันให้เธอก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง และ "พรสวรรค์" ที่ทำให้เธอรังสรรค์ผลงานออกมาจับใจแฟชั่นนิสต้าทั่วโลก