พบแหล่งอนุรักษ์แมงด้วงกว่าง
พบแหล่งอนุรักษ์ 'ด้วงกว่าง' หรือ 'แมงคาม' ตามชื่อเรียกของท้องถิ่นอีสาน ซึ่งพบเห็น แมงด้วง ในช่วงเวลาสั้นๆ ในเดือนกันยายน-ตุลาคม เท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค.54 พบแหล่งที่อนุรักษ์ ด้วงกว่าง หรือ แมงคาม ตามชื่อเรียกของท้องถิ่นอีสานที่ วิจิตรา แคมปิ้ง ปาร์ค ซึ่งเป็นโฮมสเตย์ ตั้งอยู่ที่บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ได้อนุรักษ์ แมงด้วงกว่าง นี้ไว้ ซึ่ง พ.ต.ต.กิตติภพ สิมมาตรา ข้าราชการบำนาญ เจ้าของโฮมสเตย์ กล่าวว่า ด้วงกว่าง เป็นแมลงที่หาดูได้ยากในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากคนอีสาน นิยมนำมารับประทานกัน ทำให้ขณะนี้ ด้วงกว่างเริ่มสูญพันธุ์แล้ว
แต่ในพื้นที่บ้านตามุย ยังคงมีอยู่ โดยได้อนุรักษ์เอาไว้ ซึ่งด้วงกว่าง จะมีวงจรชีวิตประมาณ 1 ปี คือช่วงต้นฤดูฝน ในระยะที่เป็นตัวหนอนด้วง จะอยู่ในดินชอบกินเศษใบไม้ผุ ตอไม้ หรือต้นไม้ที่ผุ เป็นการช่วยธรรมชาติในการย่อยสลายใบไม้ ต้นไม้ ให้กลายเป็นปุ๋ยแก่ดินได้เป็นอย่างดี ต่อมากลายเป็นดักแด้ และเมื่อฝนตกลงมาทำให้ดินอ่อน ด้วงกว่างที่เจริญเติบโตเต็มที่ ก็จะดันดินออกมาสู่โลกภายนอก เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ และเพื่อการผสมพันธุ์ โดยด้วงกว่างตัวผู้ที่แข็งแรงเท่านั้น ที่มีโอกาสรอดเพื่อการผสมพันธุ์
'กว่าง' จะต่อสู้เพื่อแย่งชิงตัวเมีย พอเข้าในฤดูหนาว ประมาณเดือนตุลาคม กว่างตัวเมียหลังจากผสมพันธุ์ ก็จะขุดดินแล้ววางไข่ ส่วนตัวเองก็จะตาย ไข่ก็ฟักเป็นตัวหนอน เป็นดักแด้อาศัยอยู่ใต้ผิวดิน จนถึงต้นฤดูฝนก็จะขุดดินขึ้นมาผสมพันธุ์ต่อไปสำหรับ ด้วงกว่าง หรือ แมงคาม ซึ่งเป็นชื่อเรียกในท้องถิ่นอีสาน เป็นด้วงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ที่มี 6 ขา
โดยด้วงกว่างตัวผู้ จะมีเขายื่นไปข้างหน้าและโค้งเข้า ตอนปลายแยกเป็นสองแฉก ซึ่งมีตั้งแต่ 2 - 5 เขา ส่วนด้วงกว่างตัวเมียนั้นไม่มีเขารูปลักษณ์ที่เด่นๆ ของ ด้วงกว่าง คือ สีของกว่างจะมีทั้งสีแดงเปลือกมังคุดมันเงาไปจนถึงสีดำมันเงางาม ส่วนอาหารของด้วงกว่าง มีทั้งยอดพืชผัก ยอดหน่อไม้ ใบคราม ซึ่งอาหารที่ชอบเป็นพิเศษคือ น้ำหวานจากอ้อย