ไลฟ์สไตล์

เยี่ยม'เฮือน'อีสานบอกเล่าพื้นถิ่นในอดีต

เยี่ยม'เฮือน'อีสานบอกเล่าพื้นถิ่นในอดีต

13 ต.ค. 2554

เยี่ยม 'เฮือน' อีสาน บอกเล่าพื้นถิ่นในอดีต

          “เฮือน” หรือ "เรือน” ในความหมายของชาวอีสานนอกจากจะเป็นที่พักอาศัยแล้ว ยังเป็นแหล่งรวบรวมวัฒนธรรมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้ในที่เดียวกัน การได้ยืนมองสิ่งที่เคยเป็นความสำคัญของพื้นฐานคนไทย ทำให้คนในชนชาตินี้ภูมิใจที่ได้เห็นพื้นฐานชีวิตอันดีงาม และด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเหล่านี้ไม่ให้สูญหาย จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จึงจับมือกับ กรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ร่วมแกะรอยค้นหาคุณค่าสถาปัตยกรรมอีสาน ผ่านการเสวนา “สถาปัตยกรรมพื้นบ้าน อีสานพื้นถิ่น” ที่เจาะลึกเรื่องราวหลากแง่มุมของเฮือนอีสาน

          โดยวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญในสถาปัตยกรรมอีสาน บริเวณหมู่บ้านอีสาน จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม อ. ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่รวบรวมบ้านเก่าจากอีสานและโคราช มาไว้บนพื้นที่กว่า 10 ไร่
เริ่มต้นด้วยหัวข้อ เฮือนโคราช โดย รศ.กาญจนา ตันสุวรรณรัตน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จ.นครราชสีมา ที่บอกเล่าถึงลักษณะเฮือนโคราชแบบดั้งเดิมว่า รูปแบบในอดีตเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง ใต้ถุนโล่ง หลังคาจั่ว วางเรือนตามตะวัน เจาะหน้าต่างตรงทิศใต้

          เริ่มต้นการก่อสร้างโดยใช้ระบบสำเร็จรูปในการเจาะ บาก เข้าสลักลิ่ม และใช้ตะปู แบ่งห้องใช้สอยอย่างเรียบง่ายเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เรือนนอน ระเบียง ลานนอกชาน และครัว ออกแนวผสมผสานรูปแบบของเรือนภาคกลางและอีสานไว้ด้วยกัน แต่ก็สัมพันธ์กับความเป็นอยู่ของชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นที่มีการทำสวนทำไร่ ใต้ถุนเป็นโถงประกอบอาชีพของเจ้าของเรือน เช่นการทอผ้า ทอเสื่อ ปั้นหม้อต่างๆ

          ส่วนเฮือนอีสาน ผศ.ทรงยศ วีระทวีมาศ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อสังเกตว่า เรือนอีสานและเรือนโคราชจะมีความคล้ายคลึงกันที่ลักษณะการปลูกสร้างที่สามารถโยกย้ายได้บ่อย พื้นที่ใช้สอยแบ่งเป็น ห้องเปิง หรือห้องผี เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ใช้บูชาพระพุทธรูปและบรรพบุรุษ มีห้องกลางเป็นที่นอนของผู้เป็นพ่อแม่และลูกที่ยังเด็ก ห้องส้วมหรือส่วม เป็นห้องนอนของลูกสาวและลูกเขย เมื่อสะสมไม้สำหรับปลูกเรือนใหม่ได้ก็จะแยกไปอยู่ด้วยกันเป็นธรรมเนียม มีครัวไฟและชาน เพราะคนพื้นถิ่นดั้งเดิมต้องปลูกพืชสวนไว้ใกล้ครัว สามารถลงไปเก็บและทำอาหารได้เลย ส่วนการอาบน้ำในสมัยก่อน ห้องน้ำจะเป็นที่โล่งแจ้งอยู่ตามรอบบ้าน

          รูปแบบของเรือนพื้นถิ่นอีสานส่วนมากเป็นเรือนแฝดหรือเรือนจั่วคู่ ที่อยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ประกอบด้วยเรือนใหญ่และเรือนโข่ง ที่สามารถแยกไปปลูกเป็นเรือนของครอบครัวใหม่ได้ ต่อมาเป็นเรือนเกยพบมากใน จ.สกลนคร และนครพนม เป็นเรือนใหญ่เดี่ยวยกพื้นสูง มีเรือนชั่วคราวที่ใช้รับแขกและพักผ่อนระยะสั้น สำหรับชาวนาและผู้อพยพแบ่งออกเป็น เรือนชั่วคราวทั่วไป เรือนเหย้า และกระต๊อบ มีลักษณะเป็นเรือนทรงอ้วน หลังคาไม่สูง สามารถต้านลมพายุในพื้นที่ราบได้

          ทางด้านความเชื่อและวัฒนธรรม ผศ.สมชาย นิลอาธิ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แจงว่า คนอีสานสมัยก่อนจะเริ่มจากการอยู่เถียงนาพื้นเดิม คือ การทำไร่ ต่อมาเริ่มเป็นชุมชน มีการปลูกเหย้า สุดท้ายจึงกลายเป็นเรือน ความสุขของคนอีสานเก่ามีอยู่ 6 อย่าง ได้แก่ สุขเพราะมีข้าวกิน สุขเพราะมีที่ดินอยู่ สุขเพราะมีคู่นอนนำหรือมีเมีย สุขเพราะมีคลังเต็มไถ้ สุขเพราะมีเฮือนใหญ่มุงแป้นกระดาน และสุขเพราะมีลูกหลานมานั่งเฝ้ายามเฒ่ายามแก่ มีความเชื่อในการควบคุมสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข การทำเช่นนี้เป็นกุศโลบายที่จะทำให้ผู้ใหญ่เอ็นดูอุปถัมภ์ลูกหลาน เมื่อถึงเวลาที่ต้องแยกครอบครัวไปอยู่กินกันเอง ทั้งนี้ การสร้างบ้านจะดูทำเลพื้นดินสูงต่ำ ทิศของจอมปลวก บ่อน้ำ และสายน้ำ ตั้งบ้านดูน้ำ ซึ่งปัจจุบันความเชื่อเรื่องทำเลที่ตั้งแทบหมดไปจากชาวอีสาน เพราะที่ดินเหลือน้อยไม่มีสิทธิ์เลือกเหมือนแต่ก่อน แต่ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามนั้นยังคงหลงเหลืออยู่มาก

          เมื่อหันมามองปัจจุบันให้มากขึ้นพบว่า รูปแบบการออกแบบสถาปัตยกรรมในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการเปลี่ยนวัสดุให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ตรงตามความคิดของนักออกแบบทั้งหลายที่ต้องไม่ยึดกรอบเดิม แต่สุดท้ายก็ต้องมีวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน การเดินชมบ้านหลังเก่าต่างๆ ที่ถูกรักษาไว้อย่างดั้งเดิม เหมือนได้ย้อนยุคไปอีก 1 สมัยในเวลาสั้นๆ ทำให้ผู้เข้ามาเยี่ยมเยือนสัมผัสถึงความกลมกลืนบางอย่างของวัฒนธรรมทั้งสองสมัยที่ทำให้คำว่า "มีเท่านี้ก็อยู่ได้" นั้นมีอยู่จริง