ไลฟ์สไตล์

เตือนระวังมดตะนอยกัดถึงตาย

02 พ.ย. 2554

กรมวิทย์ฯ เตือน ระวังมดตะนอยต่อย อาจเกิดอาการแพ้ถึงตาย แนะถูกมดต่อย มีอาการแพ้ หายใจไม่ค่อยออก รีบไปพบแพทย์ คนไม่แพ้รักษาแผลให้สะอาดป้องกันการติดเชื้อ

          นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วมนี้ต้องระมัดระวังสัตว์ แมลงมีพิษต่างๆ ที่หนีน้ำขึ้นไปตามบ้านเรือนประชาชน รวมถึงต้องระมัดระวังมดตะนอยด้วย เพราะเมื่อไม่นานมานี้มีชาวบ้านอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ได้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้แล้วถูกมดตะนอยกัดที่ริมฝีปาก จากนั้นมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บปวดตรงแผลที่โดนมดตะนอยกัด และมีอาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นอาเจียน และเสียชีวิตในที่สุด

          ทั้งนี้ ต่อมามีชาวบ้านที่จังหวัดนครปฐม ถูกมดต่อยมีอาการรุนแรง จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และได้มีการส่งตัวอย่างมดมาที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจากการตรวจจำแนกชนิดตัวอย่างมดที่ได้รับดังกล่าว พบว่าเป็นมดตะนอยเช่นเดียวกัน

          "อันตรายของมดตะนอย เกิดจากการที่มดตะนอยต่อยด้วยเหล็กใน ซึ่งการต่อยของมดจะแตกต่างจากผึ้ง คือมดเมื่อต่อยแล้วจะสามารถดึงเหล็กในกลับ ทำให้สามารถต่อยได้หลายครั้ง ผู้ถูกต่อยจะถูกต่อยซ้ำๆ ด้วยมดตัวเดิม ในขณะที่ผึ้งจะต่อยเพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเหล็กในไว้ที่แผลของผู้ถูกต่อย เหล็กในที่ยื่นออกมาจากปลายท้องมดจะเชื่อมต่อกับต่อมพิษที่อยู่ภายในท้อง ซึ่งต่อมพิษจะผลิตสารประกอบโปรตีนและสารอัลคาลอยด์"

          ทั้งนี้ สารที่ทำให้ผู้ถูกต่อย เกิดอาการแพ้คือสารประกอบพวกโปรตีน โดยสารโปรตีนเหล่านี้จะทำให้ผู้ถูกต่อยมีอาการต่างๆ เช่น เจ็บปวดบริเวณแผล แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน ซึ่งหากบางรายที่แพ้รุนแรงถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้

          นพ.บุญชัย กล่าวว่า ไม่เฉพาะแต่มดตะนอยเท่านั้น ที่มีเหล็กในและมีต่อมพิษ มดชนิดอื่นๆ เช่นมดคันไฟ ก็มีสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

          สำหรับ มดตะนอย มีลักษณะลำตัวยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนหัวและส่วนท้องเป็นสีเข้มเกือบดำ ส่วนอกเป็นสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีส้ม รอยต่อระหว่างอกและท้องมีลักษณะเป็นปุ่มนูน 2 ปุ่มมีสีน้ำตาลเหลืองจนถึงสีส้มเช่นกัน หนวดมี 12 ปล้อง กรามมีขนาดใหญ่ ท้องมีลักษณะเป็นรูปไข่ โดยที่ปลายท้องจะมีเหล็กในยื่นออกมาให้เห็นได้เด่นชัด ชอบทำรังอยู่บริเวณบนต้นไม้ใหญ่และต้นไม้ที่ตายแล้ว

          ทั้งนี้ จะเห็นเป็นโพรงอยู่ภายในต้นไม้ โดยมดตะนอยจะกินซากแมลงเล็กๆ เป็นอาหารและจะออกหากินอยู่บริเวณต้นไม้และพื้นดินใกล้เคียงที่อาศัย

          นพ.บุญชัย กล่าวว่า ประชาชนควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมดตะนอยทำรังอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้ที่ตายแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้มดต่อย

          "ถ้าถูกมดต่อย แล้วรู้สึกว่า มีอาการแพ้ หายใจไม่ค่อยออก อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการแพ้ ให้รักษาแผลบริเวณที่ถูกกัดและต่อยให้สะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อซ้ำ" นพ.บุญชัย ระบุ

 

...........

(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต)