นกป่าสัปดาห์ละตัว:นกยางเขียว
นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกยางเขียว : www.oknation.net/blog/plains-wanderer
ความเฉลียวฉลาดของสัตว์นั้นบ่อยครั้งทำให้เรารู้สึกทึ่งไปกับพวกมัน มีการทดลองมากมายได้ทำการพิสูจน์ว่าสัตว์หลายชนิดมีระบบการคิดและแก้ปัญหาที่ซับซ้อนชนิดที่ว่ามนุษย์เราอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ความฉลาดนี้น่าจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากความสามารถพลิกแพลงใช้วัสดุที่อยู่รอบตัวมาเป็นเครื่องมือช่วยหาอาหาร มีนกหลายชนิดใช้กิ่งไม้ยาวๆ เขี่ยหนอนแมลงที่ซ่อนอยู่ตามซอกไม้ออกมากิน บ้างใช้ก้อนหินช่วยในการกระเทาะเพื่อกินเนื้อเหยื่อที่เป็นสัตว์มีกระดองหรือเปลือกแข็ง อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการใช้เครื่องมือของนกไทยนั้นมีการพบเห็นอย่างชัดเจนในนกเพียงไม่กี่ชนิด หนึ่งในนั้นก็คือนกยางเขียว (Little Heron)
นกยางชนิดนี้มีพฤติกรรมการจับปลาที่น่าสนใจมาก ตามสวนสาธารณะหลายแห่งมีการพบว่ามันใช้เศษอาหารหรือเศษขนมปังที่คนโยนให้ปลากินมาล่อปลาเพื่อจับกินเสียเอง โดยมันจะคาบเศษขนมปังมาหย่อนไว้ในน้ำ แล้วรอจังหวะในชั่วพริบตาพุ่งจับปลาที่ขึ้นมาฮุบเหยื่อล่อนั้นกินเป็นอาหาร นอกจากนกยางเขียวแล้ว พฤติกรรมการใช้เหยื่อล่อปลานี้ ยังพบใน นกนางนวล (Gull) และอีกา (Crow) บางชนิดด้วย แรกเริ่มเดิมทีอาจมีนกที่ค้นพบวิธีนี้เพียงไม่กี่ตัว แต่เมื่อนกตัวอื่นเห็นจึงเรียนรู้ด้วยการลอกเลียนแบบกันมาเรื่อยๆ จนใช้กันอย่างแพร่หลาย
ในทวีปอเมริกามีญาติสนิทของนกยางเขียวชื่อว่า Green Heron (แม้ความหมายของชื่อจะตรงกับคำว่า “นกยางเขียว” แต่เป็นคนละชนิดกันนะครับ) ที่พบว่ามีพฤติกรรมนี้เช่นเดียวกัน นกยางเขียวของไทยเรามีลำตัวโดยรวมสีเทาอมเขียว ขนปีกและหลังเป็นสีเขียวเข้ม ขอบขนปีกมีสีเขียวอ่อน กระหม่อมสีเข้มจนเกือบดำและมีเปียยาว แก้มและคอมีลายเป็นทางยาวสีขาว หนังหน้าสีเหลืองสด นกวัยเด็กมีลำตัวสีน้ำตาลและมีลายสีขาวทั่วทั้งตัว
นกยางเขียวถือเป็นนกยางที่มีขนาดเล็กและมีขาสั้น มักเดินหดคอ ย่องไปตามริมสระน้ำ รากต้นไม้ในป่าชายเลน โขดหินหรือหาดเลนริมทะเล เมื่อพบเหยื่อซึ่งได้แก่ปลาและกุ้ง มันจะใช้คอที่ยาวทำหน้าที่คล้ายสปริงช่วยในการพุ่งออกไปจับอย่างรวดเร็ว
ในสมัยโบราณนกยางเขียวเคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นกยางเสวย” น่าจะเป็นเพราะคนไทยสมัยก่อนนิยมจับนกชนิดนี้มาเป็นอาหารด้วย ตามปกติเรามักพบนกยางเขียวหากินตามชายทะเล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังอาจพบทำรังวางไข่ตามสวนสาธารณะได้บ้าง แต่ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์นั้นสามารถพบได้ในถิ่นอาศัยหลากหลายเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะลำธารในป่าและตามอ่างเก็บน้ำ นกยางชนิดนี้มีขอบเขตการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางตั้งแต่ทวีปแอฟริกาไปจนถึงออสเตรเลีย
นกยางเขียว, นกยางเสวย
ชื่ออังกฤษ Little Heron, Striated Heron, Green-backed Heron
ชื่อวิทยาศาสตร์ Butorides striata (Linnaeus, 1758)
วงศ์ (Family) Ardeidae (วงศ์นกยาง)
อันดับ (Order) Pelecaniformes (อันดับนกช้อนหอย นกยาง และนกกระทุง)
-----------------------------
(นกป่าสัปดาห์ละตัว : นกยางเขียว : www.oknation.net/blog/plains-wanderer)