ลานค้าชุมชนดึงความคึกคักกลับถิ่น'ท่าสะอ้าน'
ถิ่นไทยงาม : ลานค้าชุมชน ดึงความคึกคักกลับถิ่น 'ท่าสะอ้าน' เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์
ตำบลท่าสะอ้าน ตำบลเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีเรื่องเล่าว่า เมื่อก่อนการเดินทางสมัยโบราณไม่มีถนนหนทาง ต้องลัดมาทางป่าจากและป่าแสม เส้นทางส่วนใหญ่เป็นพลุเป็นโคลน มียุงชุกชุม กว่าจะมาถึงท่าข้ามแม่น้ำตรงที่ตั้งตำบลท่าสะอ้านปัจจุบัน คนเดินทางถึงกับสะอื้นเพราะความลำบากในการเดินทาง จึงเรียกท่าข้ามนี้ว่า “ท่าสะอื้น” ต่อมาคงเห็นว่า “สะอื้น” เป็นคำไม่ไพเราะจึงเรียกเพี้ยนไปเป็นท่าสะอ้าน เมื่อชุมชนหนาแน่นขึ้น ทางการก็ได้ตั้งเป็น "ตำบลท่าสะอ้าน"
วันนี้การเดินทางไปท่าสะอ้านดูจะตรงข้ามกับเมื่อก่อนไปซะหมด เพราะมีถนนลาดยางอย่างดี ผ่านไปถึงชายแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอบางปะกงด้วย โดยเฉพาะถนนด้านในที่ใครผ่านไปมาวันนี้อาจจะเห็นว่า ระยะ 10 เมตรสุดท้าย ที่สองฝั่งเป็นเรือนแถวไม้ ปูพื้นถนนใหม่เป็นแกรนิต พอผ่านไปถึงริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอ และที่ตั้งของเทศบาลตำบล มี ศาลเจ้าแม่ทับทิม ศาลเจ้าเก่าแก่ที่ผู้คนเคารพบูชาตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำ ขณะที่ลานด้านหน้ามีร้านค้า รถเข็น ขายของเป็นแนวไป
ตรงนี้นี่เอง เป็นที่ตั้งของ "ลานค้าชุมชนท่าสะอ้าน" สถานที่พักผ่อนหย่อนใจริมน้ำ ยิ่งในยามที่ฤดูหนาวย่างกรายเข้ามา สายลมเย็นๆ ยิ่งช่วยให้เกิดความรื่นรมย์มากขึ้น
นายสินชัย แทนศร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าสะอ้าน หรือ "นายกกอก" ที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมา เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ ท่าสะอ้านเป็นเมืองเงียบๆ ไม่เกิดการค้าขาย จะมีก็วันธรรมดาที่มีเพียงคนมาติดต่อราชการ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ไปทำมาหากินนอกพื้นที่ เลยคิดว่าจะดึงความเป็นชุมชนกลับคืนมา ต้องให้คนที่นี้มีรายได้ มีการค้าขาย
แรกเริ่มเป็นระยะทดลองทำ ก็มีสปอนเซอร์ให้ทุนทำรถเข็นขายของ เหมือนรัฐสวัสดิการ เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ โดยใช้พื้นที่ส่วนกลางนี้ร่วมกัน จะซื้อร้านไหน นั่งตรงไหนก็ได้ เป็นร้านค้ายามเย็น มีข้อแม้เพียงว่า ต้องช่วยกันดูแลความสะอาด ดูแลความเรียบร้อย ถ้าเป็นวันทำงานหลังเลิกขายจะต้องเก็บข้าวของให้เรียบร้อย ห้ามวางเกะกะเด็ดขาด ยกเว้นวันศุกร์-เสาร์ ที่วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันหยุดก็อะลุ้มอะล่วยให้ ส่วนการเลือกพื้นที่ค้าขาย หากใครมีสำมะโนครัวอยู่ในเขตพื้นที่ ตำบลท่าสะอ้าน ก็จะให้สิทธิค้าขายในทำเลดีๆ ส่วนถ้าเป็นพ่อค้าเร่ หรือคนนอกพื้นที่ ก็จะได้ทำเลรองๆ ลงไป
"เริ่มแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีคน แต่ตอนนี้มีรถเข็นร่วม 30 รายแล้ว ส่วนคนที่มาเที่ยว เราไม่กำหนด จะมาซื้อของที่นี่รับประทาน หรือจะซื้อจากที่อื่นมาก็นั่งได้ เป็นเหมือนพื้นที่ปิกนิก คนที่มาเที่ยวมาพักผ่อน ส่วนใหญ่ก็มาจากข้างนอก เป็นพวกคนทำงาน ที่รู้กันแบบปากต่อปาก อีกราว 1 เดือน หรือเดือนมกราคมนี้ ก็จะครบระยะทดลองทำที่ตั้งไว้ 600 วัน ก็จะมาประเมินกัน"
นายกกอก ยังบอกด้วยว่า นอกจากลานค้าชุมชนแล้ว บริเวณห้องแถวไม้ด้านหน้า ที่มีปูแกรนิต ก็ยังตั้งเป้าว่าจะทำเป็น ถนนคนเดิน (Walking Street) โดยจะพยายามรักษาสภาพของบ้านเรือนให้เป็นแบบเดิม แต่เน้นเรื่องความสะอาด ไม่ผุ ไม่พัง โดยไม่ต้องไปดัดแปลงหรือต่อเติมอะไรให้มาก อย่างดีก็ปลูกพวกไม้เลื้อยให้เกิดความสวยงาม และอาจจะตั้งแถวค้าตรงกลางถนนเพิ่มให้คนเดินได้สองฝั่ง ที่คิดว่าสักวันอาจจะเป็นตลาดเก่าที่คึกคัก คล้ายๆ สามชุก จ.สุพรรณบุรี
"ทั้งหมดของความพยายามก็เพื่อจะพลิกฟื้นให้กลับมาเป็นเหมือนอย่างเก่า และจะบูรณาการร่วมกับเขตปกครองตนเองท้องถิ่นอื่นๆ ที่ไหนมีของดีนำมารวมกันที่นี่ และคิดว่าเมื่อทำสำเร็จทั้งหมด ที่นี่น่าจะเป็นเหมือนตลาดเก่าที่คึกคัก อย่างตลาดสามชุก จ.สุพรรณบุรี"
ไปแปดริ้ว แวะไหว้หลวงพ่อโสธร ก่อนกลับเข้ากรุงเทพฯ ขับเลยแยกมอเตอร์เวย์ไปไม่ไกล จะถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายไฟแดงเข้าตำบลท่าสะอ้าน (ฝั่งตรงข้ามไปบางวัว) ไปนั่งพักผ่อน รับลมเย็นริมชายน้ำบางปะกงกัน
วันนี้ ตลาดท่าสะอ้านอยู่ระหว่างการปรับตัว ด้วยหวังว่า สักวันจะกลับมาคึกคักในรูปแบบฉบับของตัวเอง และของชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้ก็ตาม
ถิ่นไทยงาม : ลานค้าชุมชน ดึงความคึกคักกลับถิ่น 'ท่าสะอ้าน'
เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์