ม.วลัยลักษณ์สร้างเครื่องกำจัดมอด
นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หัวใสสร้างเครื่องกำจัดมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา ด้วยเทคโนโลยีไมโครเวฟ เครื่องแรกของประเทศไทย
2 มี.ค.55 นายไพรวัลย์ เกิดทองมี นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเป็นนักวิจัยของม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราแปรรูป เป็นสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ไม้ยางก่อนส่งออกจะต้องกำจัดมอดกินไม้ให้หมดสิ้น หากถูกตรวจพบมอดในไม้ยางพาราแปรรูป สินค้าทั้งหมดจากถูกตีกลับจากประเทศปลายทาง โดยในปัจจุบันการกำจัดมอดในไม้ยางพารามักใช้วิธีรมสารเคมี ใช้เวลานาน และถูกต่อต้านจากหลายประเทศ อีกทั้งสารเคมีที่ใช้กันเกี่ยวข้องกับการทำให้โลกร้อน ดังนั้นการพัฒนาเครื่องกำจัดมอดในไม้ยางพาราด้วยเทคโนโลยีไมโครเวฟ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้
“ผมและพันธุ์ศักดิ์ เกิดทองมี นักศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ม.วลัยลักษณ์ ธรรมนูญ ศรีน่วม นักศึกษาปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ เดียวกัน มีแนวคิดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จึงได้ร่วมกันสร้าง “เครื่องกำจัดตัวมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา” โดยการนำเทคโนโลยีไมโครเวฟซึ่งเป็นเทคโนโลยีสะอาด(Green technology) และไม่มีอันตรายและสารตกค้าง มาช่วยในการกำจัดมอดและไข่มอดในอุตสาหกรรมไม้ยางพารา โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ หัวหน้าหน่วยวิจัยพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์เป็นที่ปรึกษา”
สำหรับ“เครื่องกำจัดตัวมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา” มีขนาดกำลังไมโครเวฟ 72 kW ขนาดของห้องให้ความร้อน กว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 2 เมตร สามารถใส่ไม้ยางพาราได้ครั้งละประมาณ 1,000 กิโลกรัม และใช้เวลาในการทำลายมอดและไข่มอด ประมาณ 10 นาที ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 60 องศาเซลเซียส โดยการพัฒนาเครื่องกำจัดมอดด้วยไมโครเวฟดังกล่าวถือเป็นเครื่องแรกที่มีกำลังไมโครเวฟสูงสุดสำหรับการทำลายมอดและไข่มอด ในระดับอุตสาหกรรมที่เคยมีในประเทศไทย
ไพรวัลย์ เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างเครื่องดังกล่าวเกิดจากความต้องการกำจัดมอดในไม้ยางพาราของบริษัท แปลนครีเอชั่น จำกัด จ.ตรัง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตของเล่นสำหรับเด็กยี่ห้อ PlanToys ผมจึงได้ทำการพัฒนาเครื่องกำจัดมอดและนำไปทดลองใช้ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและไม่มีอันตรายต่อเด็ก นอกจากนี้ยังทำให้บริษัทสามารถแก้ปัญหาการส่งสินค้าไปยังสหภาพยุโรปซึ่งห้ามการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงอีกด้วย ทั้งนี้ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไมโครเวฟดังกล่าว สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(สนช.)ได้ให้ค่าตอบแทนเทคโนโลยีกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวน 450,000 บาท ความสำเร็จดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟกำลังสูงสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บ หนิสอ ในฐานะหัวหน้าหน่วยวิจัย หน่วยวิจัยพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม ม.วลัยลักษณ์และที่ปรึกษาฯกล่าวเสริมเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การนำเทคโนโลยีไมโครเวฟมาใช้ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเครื่อง“เครื่องกำจัดตัวมอดและไข่มอดในไม้ยางพารา”เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะแก้ปัญหามอดในไม้ยางพาราได้เป็นอย่างดีและมีความปลอดภัยสูงอีกด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยวิจัยพลาสมาประยุกต์เพื่อการกสิกรรม มีการทำวิจัยเกี่ยวกับฟิสิกส์และวิศวกรรมของคลื่นไมโครเวฟกำลังสูงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ ปี 2548 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเครือข่ายสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาภาคใต้ตอนบน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ของไทย(ThEP) สวทช. และสถาบันวิจัยพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์บทความวิจัย 7 เรื่อง นำเสนอในที่ประชุมทางวิชาการ 24 เรื่อง และกำลังยื่นและยื่นจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรรวม 5 เรื่อง โดยมีเทคโนโลยีไมโครเวฟที่ใช้ประโยชน์ได้แล้ว เช่น การอบแห้งผลผลิตการเกษตรต่างๆ เช่น ปลา ผักสมุนไพร ข้าวพอง รังนกแอ่น ลูกเดือย การแยกสปอร์ของเชื้อรา เป็นต้น
ปัจจุบันห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีพลาสมาฯ กำลังพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟสำหรับการเกษตรอินทรีย์เพื่อสกัดสารที่มีประโยชน์จากพืชสมุนไพร การสกัดน้ำหอมจากดอกไม้ โดยไม่ใช้สารเคมีตัวทำละลาย และการพัฒนาเทคโนโลยีไมโครเวฟเพื่อการสังเคราะห์วัสดุนาโนเชิงฟังก์ชัน โดยจะร่วมมือกับหน่วยวิจัยเทคโนโลยีโมเลกุล ม.วลัยลักษณ์ และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และบริษัทแฮนด์ฮาเวสต์ จังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หมุดตอเล็บสรุป