
ปีใหม่ลีซอ วิถีดั้งเดิมบ้านเสาแดง
ถิ่นไทยงาม : ปีใหม่ลีซอ วิถีดั้งเดิมบ้านเสาแดง โดย...นายเตร็ดเตร่ เท่ห์ทั่วไทย
ตั้งแต่เคาน์ดาวน์เข้าปีใหม่ 2555 มา บ้านเราก็มีการฉลองงานรื่นเริงรับปีใหม่ต่างเวลากันไป ตามแต่ละประเพณีของแต่ละท้องถิ่น ตั้งแต่ตรุษจีน ที่ปีนี้ดูจะมาเร็ว และเดือนเมษายนก็จะฉลองปีใหม่ไทย หรือสงกรานต์ ขณะที่ชนเผ่าต่างๆ ก็จะฉลองปีใหม่ของตัวเอง โดยมากจะตรงกับช่วงตรุษจีน บางชุมชนฉลองกันถึง 7 วัน 7 คืน เพื่อนำสิ่งเลวร้ายออกไปจากหมู่บ้าน และต้อนรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา
บ้านเสาแดง หมู่บ้านเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาบนพื้นที่สูง ใน ต.แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งแยกตัวออกจาก อ.แม่แจ่ม ผู้คนที่นี่เป็นชาวเขาเผ่าลีซอ หรือลีซู ที่นี่มีการจัดงานปีใหม่อย่างสนุกสนานตามประเพณีดั้งเดิม ทั้งงานพิธีกรรม การทำบุญ และงานรื่นเริง
วันแรกที่ผมเดินทางมาถึงที่นี่บ้านเสาแดง ตามเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขา สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,230 เมตร พวกเราได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี รวมไปถึงมิตรไมตรีของเจ้าของบ้านที่นำเหล้าพื้นบ้าน ซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวและอาหารมาต้อนรับ แต่ที่เห็นเด่นๆ ของที่นี่ก็จะเป็น “ข้าวปุ๊ก” หรือขนมปีใหม่ที่ทำมาจากข้าวเหนียวซึ่งนึ่งจนสุกแล้วช่วยกันตำ ตำ แล้วก็ตำ จนละเอียดผสมกับงาเล็กน้อยห่อทับด้วยใบตองไว้สำหรับเซ่นไหว้และเลี้ยงญาติพี่น้อง
งานปีใหม่ลีซอ เป็นการสืบทอดประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นได้อย่างงดงาม โดยยึดหลักวัฒนธรรมของตนเอง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นการฉลองการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ มีการตัดเย็บเสื้อผ้าใหม่ๆ และมีการทำพิธีขอบคุณเทพเจ้าต่างๆ ไหว้วิญญาณบรรพบุรุษที่ช่วยปกป้องภยันตรายและช่วยดูแลผลผลิตด้วยดีเสมอมา
บ้านแต่ละหลังจะนำต้นไม้ ส่วนใหญ่เป็นต้นสนขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ สูงประมาณ 1.5 เมตร มาปักไว้บริเวณตรงลานบ้าน ถือเป็นตัวแทนบรรพบุรุษของชนเผ่าที่อัญเชิญมารับของเซ่นไหว้ และยังใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการเต้นรำรอบๆ ต้นไม้ เพื่อเฉลิมฉลองปีใหม่และขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบริเวณบ้านอีกด้วย
หลังจากที่ทำพิธีไหว้วิญญาณบรรพบุรุษและศาลประจำหมู่บ้านแล้ว ก็จะมีการเต้นรำ ร้องเพลง โดยหนุ่มสาวเด็กและคนแก่จะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า และสวมเครื่องประดับอย่างสวยงาม เริ่มจากที่บ้าน "ปู่จารย์” หรือหมอผี ซึ่งเป็นหัวหน้าทางพิธีกรรม ท่ามกลางเสียงประทัดที่จุดดังตลอดเวลา อันหมายถึงช่วงเวลาเทศกาลของงานปีใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว จนกระทั่งดึกก็จะตระเวนเต้นรำไปตามบ้านแต่ละหลังตรงบริเวณต้นไม้ที่ปักไว้บนลานบ้าน เพื่อเป็นการอวยพร และเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน โดยเจ้าของบ้านจะเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ขนม ชา เหล้ามาเลี้ยงขอบคุณ
ท่วงทำนองของเสียงซึง เครื่องดนตรีประจำเผ่าลีซอผสมผสานกับเสียงเครื่องเงินดังเป็นจังหวะตามทำนองที่เชื่องช้าและรวดเร็วสลับกัน เต้นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่บ้านหลังแรกไปจนถึงหลังสุดท้ายครบทุกหลังโดยจะไม่มีเว้นบ้านใดบ้านหนึ่งจนสว่าง เชื่อว่าเป็นการนำสิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านไป และในอีกคืนก็จะเต้นจากบ้านหลังสุดท้ายย้อนกลับมาบ้านหลังแรกจนสว่างเช่นเดิม เพื่อเป็นการนำสิ่งดีๆ เข้ามาในหมู่บ้าน
การเต้นรำของชาวลีซอถือว่าเป็นการเกี้ยวพาราสีอย่างหนึ่ง เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวจับมือเต้นด้วยกันได้ แต่ถ้าหากเกี่ยวดองเป็นพี่เป็นน้องหรือเครือญาติ ไม่สามารถจับมือกันได้ ถือว่าเป็นการผิดผีผิดประเพณีอย่างแรง
ปีใหม่ลีซอของ "บ้านเสาแดง” ถือเป็นประเพณีชนเผ่าที่สนุกสนานมีสีสัน ซึ่งยังคงความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม และยังรอนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้เข้าไปสัมผัส โดยคาดหวังให้เกิดการอนุรักษ์ให้เป็นเสน่ห์ของท้องถิ่นต่อไป
.............................
(ถิ่นไทยงาม : ปีใหม่ลีซอ วิถีดั้งเดิมบ้านเสาแดง โดย...นายเตร็ดเตร่ เท่ห์ทั่วไทย)