
ช้างไทยโชว์ศิลปะบนปลายงวง
ปางช้างสวนนงนุชพัทยาจัดงานวันช้างไทยยิ่งใหญ่ ช้าง-ควาญช้าง ทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง จัดขบวนแห่พิธีฮ้องขวัญช้าง การแสดงชุด 'ช้าง ยุทธลีลาคชาธาร' และโชว์ศิลปะบนปลายงวงขอชีวิต 'หยุดฆ่าช้าง'
13 มี.ค.55 นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอสัตหีบ นายอรรถพล วรรณกิจ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพัทยา นายประวัติ รัตนภุมมะ ผู้อำนวยการสำนักสุขศาสตร์สัตว์และ สุขอนามัยที่ 2 นายนิพนธ์ เข็มกลัด ปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี นายมานิจ นารินทร์รักษ์ ผู้ช่วย ผู้จัดการทั่วไปสวนนงนุชพัทยา ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันช้างไทย ณ ปางช้างสวนนงนุชพัทยา ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างประเทศ หลายพันคนเข้าร่วมงานในวันนี้
นายชายชาญ เอี่ยมเจริญ นายอำเภอสัตหีบ กล่าวว่า ปางช้างสวนนงนุชพัทยาโดย นายกัมพล ตันสัจจา ให้ความสำคัญในวันช้างไทยตลอดมา ทุกปีจะมีการจัดกิจกรรมยิ่งใหญ่ของการปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ช้างไทย ให้กับประชาชนคนไทย และชาวต่างประเทศ ได้มีความรัก ผูกพัน หวงแหนช้างไทย เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่ช้างไทยจะสูญพันธุ์ และจากการที่รัฐบาล ได้กำหนดให้ วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ให้เป็นวันช้างไทย เพื่อเป็นการยกย่อง “ช้าง” ซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีความสำคัญ ต่อจิตใจคนไทยทุกคน นอกเหนือจากเกียรติภูมิ ที่ช้างเคยได้รับมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นช้างเผือก ซึ่งเป็นตราประจำชาติ และสัญลักษณ์บนผืนธงชาติไทย ช้างยังเป็นสัตว์คู่พระบารมี ของพระมหากษัตริย์ไทย มาแต่โบราณกาล และยังมีส่วนร่วมกับบรรพชนไทย ในการทำศึกยุทธหัตถี กอบกู้เอกราชของชาติไทย เพื่อให้คนไทยได้ร่วมรำลึก และตระหนักถึงความสำคัญของช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติ ได้พร้อมใจกันอนุรักษ์ช้างไทย ให้คงอยู่กับชาติไทยตลอดไป
ส่วนทางด้าน นายกัมพล ตันสัจจา ผู้อำนวยการสวนนงนุชพัทยา กล่าวว่า ปัจจุบันสวนนงนุชพัทยา มีช้างอยู่ในการดูแลทั้งหมด 40 เชือก มีช้างพลาย 5 เชือก ช้างพัง 35 เชือก คาดว่าในอนาคต ปางช้างสวนนงนุชพัทยาจะสามารถผลิตจำนวนช้างเพิ่มมากขึ้น อย่างแน่นอน และปางช้างสวนนงนุชพัทยา ยังได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นปาง (แคมป์) ช้าง ที่มีมาตรฐานแห่งแรกในภาคตะวันออก และได้รับประกาศนียบัตรรับรองติดต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งวันช้างไทยในปีนี้ จึงได้จัดให้มีการกิจกรรมยิ่งใหญ่ ทำพิธีฮ้องช้างตามประเพณี ที่สำคัญยังได้ให้ช้างฝึกใช้ศิลปะบนปลายงวงให้เป็นประโยชน์ เพื่อเรียกร้อง ให้พรานป่า และผู้ที่มุ่งร้ายต่อช้าง ด้วยการเขียนคำว่า “หยุดฆ่าช้าง” ในวันนี้ด้วย
แม่สาจัดสะโตก'สืบสานพันธุ์ช้างไทย'
ที่ปางช้างแม่สา อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้มีการจัดงานวันช้างไทยครั้งที่ 13 ประจำปี 2555 ขึ้น ในชื่องาน "สืบสานพันธุ์ช้างไทย ครั้งที่ 13" โดยมีม.ล. ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี ดร.จู้เหว่ยหมิ่น กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ นายเฉลิมศักดิ์ สุระนันท์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ ร่วมงาน ขณะที่ประชาชนจำนวนมากได้หลั่งไหลเข้าเที่ยวปางช้างแม่สากันอย่างคับคั่ง ส่งผลให้การจราจรบริเวณด้านหน้าทางเข้าปางช้าแม่สาติดขัด รถจอดสอง ข้างทางเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร
สำหรับในงานได้มีการตั้งจุดสะโตกช้างสำหรับช้าง 70 เชือก ซึ่งทยอยเดินทางมาจากจุดต่างๆ ภายในสะโตกช้างจะมีทั้งกล้วย อ้อย และแตงโม หลังจากนั้นได้มีพิธีบายศรีสู่ขวัญช้างและ ผูกงาช้าง เพื่อความเป็นสิริมงตล รวมถึงการฮ้องขวัญช้าง ซึ่งแต่ละกิจกรรมได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชายไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก สำหรับไฮไลท์ของการจัดงานอยู่ ที่ช้างวาดภาพ ในชื่องาน "คชา เปรมปรีดิ์" บนผ้าใบขนาด 80x100 เซนติเมตร โดยใช้เทคนิคสีอคลีลิคบนผ้าใบ
โดยศิลปินประกอบด้วย ช้างพญา เพศผู้ อายุ 10 ปี ช้างทองเพิ่ม เพศผู้ อายุ 7 ปี และช้างมีนา เพศมีย วัย 3 ปี ซึ่งมีนายประหยัด ฐานดี เป็นศิลปินผู้ฝึกสอนและควบคุมการทำงาน และ ออกแบบแและแนวคิดโดยนายทศพล เพชรรัตนกูล สำหรับแนวคิดของภาพอังดล่าว คือสถานที่แห่งนี้ล้วนแต่มีความสุข ความสำราญ สุขภาพและจิตใจที่เบิกบาน อาหารการลินสมบูรณ์ สะท้อนถึงผู้ ที่ได้ดูแลเหล่าบรรดาช้างให้มีความสุข จึงใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งคนและช้าง
มูลนิธิช้างจัดงานวันช้างไทยที่แม่สอดห่วงช้างสูญพันธุ์
มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับชาวบ้านบ้านปูเต้อ และบ้านยะพอ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จัดงานวันช้างไทยขึ้นที่ วัดบ้านปูเต้อ ต.แม่กุ โดยมีประชาชน นักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่ ต่างไปงานวันช้างไทย ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ อาทิ ให้นักท่องเที่ยว และชาวบ้าน เยาวชนรุ่นหลัง ขี่ช้าง กว่า 30 เชือก รอบวัดบ้านปูเต้อ การจัดงานดังกล่าว ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันช้างไทย ภายใต้แนวคิด "คนยังช้างอยู่ เคียงคู่บารมี ศักดิ์ศรีสยามประเทศ"ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องเกียรติคุณ ช้างและคนเลี้ยงช้างให้เกิดความภาคภูมิใจ และเป็นการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้เข้าใจอีกหนึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้าง รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวของชุมชน ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
นายวิเชียร พงษะงชนะ ราษฎรบ้านปูเต้อ ที่เป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้าง กล่าวว่า ไม่อยากให้ช้างลดหายลง อยากให้อนุรักษ์ไว้ให้ลูกให้หลานได้เชยชม
สถาบันคชบาลแห่งชาติลำปางจัดกิจกรรมฮ้องขวัญช้าง
จังหวัดลำปาง ร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติจังหวัดลำปางและศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้จัดกิจกรรมวันช้างไทยขึ้น ที่ลานแสดงช้าง โดยมีนายสุรชัย จงรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธาน และนายนิปกรณ์ สิงหพุทธางกูร หัวหน้าฝ่ายบริหารงานทั่วไป ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง ได้นำเจ้าหน้าที่และประชาชน ร่วมกิจกรรมวันช้างไทย ซึ่งในช่วงเช้าได้มีพิธีทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระสงฆ์ 9 รูป โดยมีช้าง 30 เชือก และประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมในพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในวันช้างไทย
ขณะเดียวกัน ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ได้ประกาศงดกิจกรรมการแสดงของช้าง 1 วัน แต่ยังเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ เข้ามาเที่ยวชมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยและร่วมกิจกรรมในช้างไทยได้ตามปกติ ซึ่งประชาชนนักท่องเที่ยว ได้ถือโอกาสร่วมกิจกรรมวันช้างไทยและร่วมกันให้อาหารช้าง
จากนั้น มีพิธีทางศาสนา สวดบังสุกุล ทอดผ้าบังสุกุล เจริญพระพุทธมนต์ ถวายสังฆทานและผ้าป่าให้กับช้างที่ล้มไปแล้ว เพื่อส่งบุญและส่วนกุศลไปให้ เพราะช้างถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่เหมือนกับคน จึงต้องทำบุญให้ ก่อนที่จะมี พิธีเรียกขวัญช้าง หรือฮ้องขวัญ เป็นประเพณีทางล้านนา เป็นการเรียกสติ และปัญหากลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวช้าง ให้ช้างมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ อายุยืนยาว ซึ่งจังหวัดลำปาง เป็นหน่วยงานหลักในการอนุรักษ์ช้างไทย จึงได้จัดกิจกรรม เพื่อให้ประชาชนได้ตะหนักถึงปัญหาช้าง และเพื่อให้ช้างได้เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้น ด้วยการพักผ่อนอย่างเต็มที่และรับประทานอาหารช้าง ที่เตรียมไว้ โดยมี ผลไม้หลากหลายชนิด วางอยู่บนสะโตกขนาดใหญ่ ได้กินอย่างอิ่มหนำสำราญ
วังช้างอยุธยาจัดกิจกรรมปลุกกระแส
นายลายทองเหรียญ มีพันธ์ เจ้าของวังช้างอยุธยาแลเพนียด จ.พระนครศรีอยุธยา ในฐานะประธานชมรมพระคชบาล ได้นำช้าง 4 เชือก ได้แก่พลายคชาเลิศฟ้า อายุ 27 ปี พลายจันทร์บุญ อายุ 27 ปี แต่งเป็นช้างศึก และพลายนพเกล้า อายุ 9 ปี และพลายเลิศปฐพี อายุ 12 ปี ทาสีเป็นช้างแพนด้า จากนั้นได้นำไปยังบริเวณศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า หรือศูนย์ข้อมูลข่าวสารท่องเที่ยวอุธยา โดยมีการนำป้ายข้อความมาแสดง "วันนี้เหมือนขอทาน อดีตกาลเคยกู้ชาติ "โดยมีชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอาสาสมัครเลี้ยงช้างมาร่วมด้วย
นายลายทองเหรียญ กล่าวว่า อยากให้คนไทยหันมามองปัญหาของช้างไทยในปัจจุบันนี้ เพราะมีปัญหามากมาย ที่เพนียดของตนปัจจุบันมีช้าง 100 เชือก ลูกช้างอีก 12 เชือกต้องดูแล ทุกวันนี้ยังรับภาระช้างที่มีประวัติดุร้ายมาดูแล ขณะเดียวกันต้องการสะท้อนว่าช้างทุกวันนี้ต้องมีความสามารถ ต้องแต่งกายเป็นตลก ต้องแสดง จึงจะได้รับความสนใจ อยากให้คนไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มองปัญหาของช้างจริงๆที่ยังต้องการความช่วยเหลืออีกมากมาย
ที่โรงเรียนกุยบุรี วิทยา อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องในวันช้างไทย อำเภอกุยบุรี ร่วมกับ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันจัดงานวันช้างไทย ขึ้นโดยมีนายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี ,พระเทพสิทธิวิมล เจ้าคณะจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันเป็นประธานในการจัดงานวันช้างไทย โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์จำนวน 9 รูป สวดทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับช้างป่าจำนวน 18 ตัว ทั้งจากถูกมนุษย์ทำร้าย และช้างที่ตายโดยธรรมชาติ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร นายอำเภอกุยบุรี กล่าวว่า ได้ก่อตั้งมูลนิธิช้างป่า บ้านพ่อ ขึ้นโดยมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน อปท. สื่อมวลชน นักเรียน-นักศึกษา กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ได้ร่วมกันบริจาคเงินเข้ามูลนิธิฯเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ช้างป่า และสนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว