ไลฟ์สไตล์

เกษตรกรยุคใหม่:ไหมอินเดีย(2)

เกษตรกรยุคใหม่:ไหมอินเดีย(2)

02 เม.ย. 2555

คอลัมน์ เกษตรกรยุคใหม่ - ไหมอินเดีย (2) - โดย ... รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ

           คราวที่แล้วได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับไหมพื้นเมืองของอินเดียที่นอกเหนือจากไหมหม่อนที่บ้านเรามีอยู่ ไหมพื้นเมืองของอินเดียที่น่าสนใจมากก็คือ ไหมมูก้า ชื่อภาษาอังกฤษของไหมตัวนี้คือ golden silk ซึ่งสื่อความหมายถึงลักษณะพิเศษคือสีธรรมชาติของไหมชนิดนี้เป็นสีน้ำตาลทองโดยไม่ต้องย้อมสี 

           จากการที่ได้รับฟังเกี่ยวกับไหมชนิดนี้และได้ไปดูงานที่ประเทศอินเดียเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่องเกี่ยวกับไหมโดยตรง ก็พบว่าน่าสนใจ ถ้าเมืองไทยสามารถนำไหมชนิดนี้มาเลี้ยงในบ้านเราได้ก็น่าจะมีช่องทางการตลาดได้อีกมาก แต่ว่าโอกาสที่จะทำเช่นนั้นมีมากน้อยเพียงใดก็คงต้องวิเคราะห์กันต่อไป เพราะเราอาจมีข้อจำกัดหลายอย่างทีเดียว

           ประการแรกที่เป็นอุปสรรคก็คือไหมมูก้าเป็นไหมที่กินใบพืชชนิดหนึ่งที่เรียกตามภาษาอินเดียว่า “ส้ม” (Som) แต่ต้นส้มที่ว่านี้ไม่ใช่ต้นส้มที่เรารู้จักกันในภาษาไทย แต่เป็นพืชอยู่ในตระกูลอบเชย และพืชที่ใกล้เคียงกันนี้ก็คือต้นอะโวคาโด ซึ่งก็ไม่ได้ปลูกกันแพร่หลายมากนักในไทย และไม่ได้หมายความว่าจะใช้ใบอะโวกาโดมาแทนใบต้น “ส้ม” ที่ว่านี้ได้ 

           ไม่เหมือน ไหมอีรี่ ซึ่งปกติจะกินใบละหุ่งเป็นอาหาร แต่ว่าเมืองไทยเราตอนนี้หาใบละหุ่งยากมาก โชคดีที่ไหมอีรี่กินใบมันสำปะหลังทดแทนได้ ถึงแม้จะไม่ดีเท่าก็ตาม 

           สำหรับไหมมูก้าแล้ว ความรู้ในเรื่องพืชอาหารของเรายังไม่มีเลย ทางอินเดียเองก็มีการศึกษาวิจัยเพื่อพยายามหาพืชทดแทนต้นส้มดังกล่าวแต่ก็ยังไม่สำเร็จ อีกทั้ง กรรมวิธีการเลี้ยงไหมมูก้าไม่เหมือนไหมบ้านหรือไหมอีรี่ที่สามารถนำมาเลี้ยงในโรงเรือนได้ โดยการเก็บใบพืชอาหารมาเลี้ยงในโรงเรือน แต่ว่ามูก้าไม่ใช่อย่างนั้น หนอนไหมชนิดนี้ต้องไปเกาะกินอาหารอยู่บนต้นเหมือนธรรมชาติ 

           เพราะฉะนั้นการเลี้ยงไหมจึงมีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากต้องนำไข่ไหมไปฝากไว้ที่ต้น “ส้ม” เมื่อฟักมาเป็นตัวหนอนก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกนกหรือศัตรูธรรมชาติอื่นมาจับกินอีก จึงต้องสร้างโรงเรือนตาข่ายคลุมต้น “ส้ม” ไว้อีกทีหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนย่อมสูงตามไปด้วย

           ไหมมูก้า มีพื้นเพอยู่ที่แคว้นอัสสัมของอินเดีย ดังนั้นชื่อไหมชนิดนี้ที่เป็นสากลจึงมีคำว่า อัสสัมลงท้ายอยู่ด้วย และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกปกป้องด้วยกฎหมายว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เหมือนกับข้าวสังข์หยดของบ้านเราที่อยู่คู่พัทลุง รวมทั้งกฎหมายต่างๆ ของอินเดียที่ควบคุมการนำเชื้อพันธุกรรมพืชและสัตว์หลายชนิดออกนอกประเทศ ก็น่าจะเป็นอุปสรรคที่จะนำไหมชนิดนี้มาเลี้ยงและผลิตเป็นการค้าในประเทศไทยได้ 

           ทว่าสิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือเมืองไทยเราเองก็มีไหมป่าเช่นเดียวกัน ไม่ได้มีแต่ไหมบ้านหรือไหมหม่อนอย่างที่เราเข้าใจกัน ดังนั้นหากเราทุ่มเทความรู้ความสามารถและมุ่งมุ่นอย่างจริงจังก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไหมพื้นเมืองหรือไหมป่าเหล่านี้ขึ้นมาเป็นทางเลือกอีกอย่างหนึ่ง โดยเสาะหาลักษณะเดีนที่เป็นเอกลักษณ์ของไหมเหล่านี้แล้วนำมาขยายผลให้มีการเพาะเลี้ยงกันกว้างขวางขึ้น ก็เชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้ 

           อย่างไรก็ตาม อินเดียเป็นประเทศที่ผลิตไหมมากเป็นอันดับสองรองจากจีน ดังนั้น ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ จึงมีสั่งสมอยู่มาก เป็นโอกาสที่นักวิชาการของไทยเราจะได้มีโอกาสไปเรียนรู้แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาการผลิตไหมบ้านเราต่อไปได้เป็นอย่างดี 

           โดยไม่ต้องเสียเวลาเริ่มต้นค้นคว้าด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นครับ!

 

 

----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ เกษตรกรยุคใหม่ - ไหมอินเดีย (2) - โดย ... รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ : ที่มาภาพ - AFP)

----------