
เจาะลึก'คณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ'ม.อัลอัซฮัร
เจาะลึก'คณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ'ม.อัลอัซฮัร : เปิดโลกการศึกษามุสลิม
เพื่อน้องๆ นักศึกษาที่จะเดินทางมาศึกษาต่อยังประเทศอียิปต์ ในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร วันนี้ "เปิดโลกการศึกษามุสลิม" ขอเจาะลึกคณะต่างๆ ของ ม.อัลอัซฮัร ผ่าน "ลีนวัตร แสงวิมาน" ตัวแทนนักเรียนไทย มาถ่ายทอดเรื่องราวการใช้ชีวิตในรั้ว ม.อัลอัซฮัร เพื่อเป็นแนวทางและการเริ่มต้นที่ดีเเมื่อเริ่มเข้ารับการศึกษาใน ม.อัลอัซฮัร
“นายลีนวัตร แสงวิมาน” หนุ่มจากภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สานฝันของพ่อ นายยีอารี และนางประคอง แสงวิมาน ผู้เป็นแม่ ให้สำเร็จเพื่อกลับไปพัฒนาหมู่บ้าน “จูลี” คือชื่อเล่นที่พี่ๆ น้องๆ ร่วมสถาบัน ม.อัลอัซฮัรใช้เรียกกัน “จูลี” เล่าว่า ก่อนมายังประเทศอียิปต์ได้ศึกษาศาสนาที่โรงเรียนประทีปศาสน์ (ปอเนาะบ้านตาล)ในระดับมัธยมต้นและได้ทุนมาศึกษายังประเทศอียิปต์ในระดับมัธยมตอนปลาย ที่สถาบันศึกษาอัลบูอูสอิสลามียะห์ อัลอัซฮัร ในปี ค.ศ. 1999 หรือ พ.ศ. 2542 แม้เป็นเด็กทุนของอัลอัซฮัรมาจากเมืองไทย แต่ไม่ได้เข้าหอพักในทันทีเพราะหอพักไม่ว่าง ต้องอาศัยอยู่นอกหอเป็นเวลา 5 เดือน
ช่วงแรกๆ นักศึกษาที่อยู่ในหอพักจะได้เงินเดือนละ 92 ปอนด์อียิปต์ ประมาณ 552 บาท โดยมีอาหารสามมื้อ เช้า เที่ยง เย็น ห้องพัก ค่าน้ำค่าไฟฟรีทุกอย่าง ส่วนนักศึกษาทุนที่พักนอกหอจะได้เงินเดือนละ 150 ปอนด์ ประมาณ 900 บาท ค่าอาหาร ที่พักค่าน้ำค่าไฟต้องจ่ายเองทั้งหมด แต่ในปี 2554 ทางหอพักนักศึกษาได้เพิ่มเงินจาก 90 ปอนด์ สำหรับนักศึกษาที่อยู่ในหอพักเป็น 200 ปอนด์อียิปต์ และนักศึกษาทุนที่อยู่นอกหอพักเป็น 330 ปอนด์ แต่ยังไม่พอกับค่าครองชีพ
“จูลี” ใช้เวลาเรียนม.ปลายอัซฮัรอยู่ 3 ปี ก็ได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยในคณะ ดีรอซาต อิสลามียะห์ วัล อารอบียะห์ หรือ อิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นคณะที่มีคนไทยหรือชาวต่างชาติศึกษาน้อยที่สุด เหตุผลหลักที่จูลีเข้าเรียนคณะนี้เพราะเป็นวิชาที่ต่อเนื่องจากการเรียนมาตั้งแต่ระดับม.ปลาย การเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยของ จูลี เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยตื่นเต้นสักเท่าไหร่เพราะได้สัมผัสชีวิตจริงของการศึกษาในระดับมัธยมมาก่อน ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ว่า “ระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย” ของสถาบันนี้มีความยากเหมือนกับมหาวิทยาลัย ทั้งในแง่ของการศึกษาและการใช้ชีวิต จะต่างกันเมื่อเข้ามหาวิทยาลัย
คณะนี้หนึ่งปีมี 14 วิชา 1.วิชาประวัติศาสตร์และอารยธรรม 2.วิชาเอกภาพวิทยา 3.หลักวิชาการอ่านอัลกุรอ่าน 4.วิชาพื้นฐานนิติศาสตร์ 5.วิชาอัลกรุอ่าน 6.วิชาวจนะและความรู้เกี่ยวกับวจนะศาสดา 7.ฉันทลักษณ์ 8.วิชาวาทศาสตร์ 9.ไวยากรณ์อาหรับ 10.การผันอักษรภาษาอาหรับ 11.นิติศาสตร์อิสลาม(อีหม่ามชาฟีอีย์) 12.ประวัติศาสตร์กฎหมายอิสลาม 13.วรรณคดีอาหรับ 14.อรรถาธิบายกรุอ่าน
ปีที่สองมี 13 วิชา ตัดวิชาหลักวิชาการอ่านอัลกุรอ่าน และวิชาฉันทลักษณ์ ของปีหนึ่งออก เพิ่มวิชาพจนานุกรมอาหรับและวิชานิรุกติศาสตร์ ปีที่สามมี 15 วิชา โดยตัดวิชาของปีสองออกดังนี้ วิชาประวัติศาสตร์ วิชานิรุกติศาสตร์ พจนานุกรมอาหรับและวิชา และเพิ่มวิชา ศาสนาเปรียบเทียบ(ปรัชญา) ภาษาอาหรับศึกษา จิตวิทยา/หลักการพื้นฐานการ ทำวิจัย กฎหมายอิสลามเปรียบเทียบ
ปีที่สี่มี 13 วิชา โดยตัดวิชาของปีสามออกดังนี้ ศาสนาเปรียบเทียบ(ปรัชญา) ภาษาอาหรับศึกษา จิตวิทยา กฎหมายเปรียบเทียบ และเพิ่มวิชา หลักสูตรการสอน(ครุศาสตร์) นิติบุคคล(การสมรสและการแบ่งมรดก)
ปัจจุบัน “จูลี” อยู่อียิปต์เป็นปีที่ 13 แล้ว โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำงานช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอดในตำแหน่งต่างๆ ของคณะกรรมการสมาคมนักเรียนไทย และยังเป็นอาจารย์สอนติวหนังสือให้รุ่นน้องๆ
“จูลี” ฝากบอกว่า "คณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับเป็นคณะที่ต้องแยกสมองให้ออกในบทเรียนต่างๆ ที่มีหลายแขนงวิชาการและต้องทำความเข้าใจให้ละเอียด กอปรกับต้องมีพื้นฐานภาษาอาหรับดี และฝากบอกน้องๆ ให้ตั้งใจเรียนและต้องเข้าสังคมทำกิจกรรมด้วยเช่นกันเพราะชีวิตจริงเราต้องอยู่กับสังคมถึงจะเข้าถึงและสอนสังคมได้อย่างแท้จริง"
.............................
(หมายเหตุ เจาะลึก'คณะอิสลามศึกษาและภาษาอาหรับ'ม.อัลอัซฮัร : เปิดโลกการศึกษามุสลิม)