
3ทศวรรษผลิต'พริกแกง'ขึ้นห้าง-รุกตลาดต่างแดน
3 ทศวรรษผลิต 'พริกแกง' ขึ้นห้าง-รุกตลาดต่างแดน
พริกแกง 24 ชนิด ที่ได้รับการการันตีมีตัวเลข อย.กำกับ แสดงถึงมาตรฐานการผลิต ยี่ห้อ “พริกแกงเจ๊หมวย” ที่ชาวขอนแก่นคุ้นเคยมานานกว่า 30 ปี จากความมุ่งมั่นสืบทอดกิจการของครอบครัวให้เป็นที่ยอมรับ ตกทอดสู่คนรุ่นลูกอย่าง อมรรัตน์ ศรีนงนุช วัย 38 ปี แห่งตลาดสดโบ๊เบ๊ ในเทศบาลนครขอนแก่น เถ้าแก่รุ่นใหม่ที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พริกแกงให้เป็นที่ยอมรับของลูกค้าและเพิ่มทางเลือกให้หลากหลายมากขึ้น
“เดิมทีแม่ทำพริกแกงขายมีแค่ 3 ชนิด คือ พริกแกงเผ็ด แกงเขียวหวาน และแกงส้มเท่า ซึ่งสมัยนั้นหากถามว่าซื้อพริกแกงเจ้าไหน ชาวบ้านจะบอกว่าซื้อพริกแกงเจ๊หมวยก็จะรู้จักกันทั้งตลาด เพราะพริกแกงที่แม่ทำผลิตวันต่อวัน ไม่มีค้างคืน ใหม่สดเสมอ พอมารับช่วงต่อจากแม่จึงคงมาตรฐานนี้มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับตั้งชื่อยี่ห้อพริกแกงมาลงตัวชื่อพริกแกงเจ๊หมวย เพราะมองว่ารสมือแม่เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว”
หลังเรียนจบคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง "อมรรัตน์" เริ่มต้นจากการเปิดร้านขายของชำที่ จ.ขอนแก่น นาน 8 ปี จนปี 2549 จึงเริ่มมารับช่วงต่อกิจการของครอบครัว โดยใช้เวลากว่า 6 ปีพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องแกงจาก 3 ชนิด มาเป็น 24 ชนิด พร้อมกับขอมาตรฐาน อย.เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการขยายตลาดให้กว้างขึ้น
“ปีแรกที่เข้ามาดูกิจการ ก็ได้เพิ่มน้ำพริกเผา พร้อมกับแตกไลน์เป็นน้ำพริกเผาสำหรับใส่ก๋วยเตี๋ยว มีเนื้อหยาบ เผ็ดจัดจ้าน น้ำพริกเผาสำหรับเบเกอรี่เนื้อจะละเอียด รสหวานนำ ไม่เผ็ดมาก ต่อมามีทั้งเครื่องแกงป่า มัสมั่น พริกแกงใต้ ทั้งเผ็ดมาก เผ็ดน้อย เราได้คิดสูตรใหม่ๆ เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกใช้น้ำพริกที่เหมาะสมกับการประกอบอาหาร” อมรรัตน์ แจง
นอกจากจะตีตลาดสดแล้ว “พริกแกงเจ๊หมวย” เริ่มเปิดตัวส่งขายในตลาดติดแอร์ ห้างค้าปลีกชื่อดัง หลังมีผู้บริหารเดินสำรวจตลาดสดแล้วเห็นมีพริกแกงวางขาย มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนตลอดเวลา จึงสนใจเข้ามาพูดคุย พร้อมติดต่อให้นำพริกแกงเข้าไปขาย กลายเป็นพริกแกงขึ้นห้างที่กระจายวางขายไปตามสาขาในอีสาน
เริ่มเข้าปีที่ 3 กิจการพริกแกงพัฒนาหลายด้าน ทั้งการพัฒนาระเบียบในการทำงาน รวมไปถึงการพัฒนาสินค้า บรรจุภัณฑ์ การนำเข้าเครื่องจักรที่มีมาตรฐานเพื่อทุ่นแรงงาน ได้มาตรฐาน สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการของตลาด ทำให้กิจการเติบโตมากขึ้น โดยมีพี่เลี้ยงจากศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้ามาให้คำแนะนำ ปรับรูปแบบการดำเนินการให้ได้มาตรฐาน ช่วยให้มีการพัฒนาทุกด้านอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันพริกแกงเจ๊หมวยผลิตออกสู่ตลาด จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียงในภาคอีสานถึงวันละกว่า 3,000 กิโลกรัม มีพริกแกงให้เลือกซื้อ 24 ชนิด แต่ละชนิดยังแบ่งย่อยเป็น 3 เกรด เพื่อให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ครัวในโรงแรม ตลอดจนกลุ่มแม่บ้าน ส่วนราคามีให้เลือกซื้อเริ่มต้นตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป
“เราขายในราคาถูก มีให้เลือกหลายขนาด ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้ตามที่ต้องการอีกทั้งยังเตรียมวางแผนการผลิตเพื่อป้อนตลาดต่างประเทศด้วย ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารไทย ตอนนี้มีติดต่อเข้ามาหลายราย ซึ่งตรงนี้เราต้องดูความเป็นไปได้ ในรายละเอียดเรื่องการส่งออกต่างๆ ซึ่งคงต้องรอให้มีความพร้อมมากกว่านี้”
สิ่งที่ "อมรรัตน์" เจ้าของกิจการพริกแกงเจ๊หมวยพัฒนามาตลอด คือคุณภาพมาตรฐานการผลิต หาจุดด้อยมาแก้ไขให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น ไม่หยุดพัฒนาสินค้า รวมถึงศึกษาจากธุรกิจอื่นๆ สามารถต่อยอดให้พริกแกงพื้นบ้านของไทย ไปตีตลาดระดับโลกได้
----------
เรื่อง - เน้นวัตถุดิบใหม่สดจากไร่
เครื่องแกง "เจ๊หมวย" เป็นสูตรของครอบครัว วัตถุดิบหลักที่ใช้ทำเครื่องแกงคือพริกแห้ง หัวหอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ขิง กระชาย ขมิ้น และเกลือขึ้นกับชนิดเครื่องแกง
ขั้นตอนการผลิต เริ่มจากนำวัตถุดิบล้างน้ำผ่านเครื่องกรอง 3 ครั้งในห้องที่ปิดมิดชิด ก่อนนำวัตถุดิบและส่วนผสมมาปั่นให้ละเอียดตามประเภทเครื่องแกง เสร็จแล้วบรรจุหีบห่อ จัดตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งไว้ บางส่วนขายหน้าร้านที่ตลาดโบ๊เบ๊ ในเขตเทศบาลนครขอนแก่น
การผลิตพริกแกงทุกขั้นตอน สิ่งที่คำนึงถึงมากคือ ความสดใหม่ของวัตถุดิบที่นำมาใช้ จะมีเจ้าประจำที่ซื้อวัตถุดิบ เช่น พริกแห้ง หัวหอม กระเทียม โดยร้านเหล่านี้จะรู้ความต้องการของเราและช่วยคัดวัตถุดิบคุณภาพดี ส่งตรงเข้าโรงงาน
ส่วนพวกตะไคร้ ข่า พริกสด ทางเราได้ติดต่อกับเกษตรกรในขอนแก่นโดยตรง ให้เขาปลูกส่งให้ ซึ่งทุกอย่างต้องคัดอย่างละเอียด เก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ได้น้ำหนักและมีกลิ่นหอม เพราะหากวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐานแล้ว จะส่งผลกับรสชาติเครื่องแกงได้
----------