ไลฟ์สไตล์

ผักหวานป่าในสวนมะขามเทศ

ผักหวานป่าในสวนมะขามเทศ

24 เม.ย. 2555

ผักหวานป่าในสวนมะขามเทศ ปลูกแซม..แต่สร้างรายได้หลัก

          หมู่บ้านป่าลังพัฒนา ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เหมือนกับพื้นที่อีกหลายแห่งของ จ.นครสวรรค์ ที่เกษตรกรต่างประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ "สมคิด พวงนาค" ต้องตั้งคำถามให้ตัวเองว่า สภาพพื้นที่แห้งแล้งเช่นนี้ควรจะปลูกพืชชนิดใดจึงจะอยู่ได้ ในที่สุดหลังจากที่ศึกษาหาข้อมูลของพืชที่หลากหลายชนิด จึงตัดสินใจปลูกมะขามเทศในพื้นที่ 8 ไร่ เพราะจากการศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าปลูกง่าย ทนแล้ง เหมาะกับสภาพของพื้นที่ กระทั่งมะขามเทศมีความสูงราว 8-12 เมตร สมคิด มองว่าระหว่างแถวของต้นมะขามเทศน่าจะปลูกพืชอื่น จึงติดสินใจปลูกผักหวานป่า ปรากฏว่าสร้างได้ดีกว่ามะขามเทศในแต่ละปีเฉพาะขายผักหวานป่าได้ปีละ 5 แสนบาท  

          สมคิด บอกว่า เริ่มเพาะพันธุ์ผักหวานป่าเมื่อเดือนมีนาคม 2538 โดยนำเมล็ดผักหวานป่าขนาดใหญ่ที่ปลูกไว้บริเวณบ้าน 1 ต้น เลือกเอาเมล็ดที่แก่จัดจนเหลืองนำมาปอกเปลือกนอกออกให้หมด จากนั้นก็นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำเมล็ดที่กะเทาะเปลือกแล้วใส่ลงไปในถุงเพาะชำ ลงบนดินจากคอกวัวเก่าผสมดินทรายเล็กน้อย แล้ววางเมล็ดให้ด้านขั้วอยู่ข้างบน ส่วนด้านท้ายเมล็ดให้วางอยู่ด้านล่าง ฝังเมล็ดลงไปเพียงครึ่งเมล็ดก็พอ เก็บเรียงไว้ใต้ร่มไม้ให้ได้รับแสงแดดรำไร 

          จากนั้นมีการดูแลรักษาด้วยการรดน้ำวันเว้นวันเฉพาะช่วงเย็นเท่านั้น จากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน เมล็ดผักหวานก็จะเริ่มงอกจนเปลือกที่หุ้มเมล็ดหลุดออกมา จะแตกยอดอ่อนออกมา 2-3 ใบ ช่วงนั้นยังคงรดน้ำวันเว้นวันไปจนอายุประมาณ 10-11 เดือน ก็จะได้ต้นพันธุ์ผักหวานที่มีความสูงประมาณ 8-10 เซนติเมตร จึงนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีไม้ยืนต้นอื่นอยู่ก่อนแล้ว ก็คือไปปลูกแซมในสวนมะขามเทศที่ปลูกไว้ก่อนหน้านั้นในพื้นที่ 8 ไร่ มีต้นมะขามเทศ 50 ต้น เนื่องจากสภาพของผักหวานป่าตามธรรมชาตินั้นจะเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ป่าโปร่งดินเขาลูกรัง แล้วรดน้ำ 3 วันต่อครั้งโดยไม่ต้องพรวนดินปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด 

          เวลาผ่านไป 3 ปี ผักหวานจะเริ่มเก็บยอดนำไปขายได้ และการเก็บยอดจะเก็บหมดทุกยอดจนเหลือแต่กิ่งเพื่อให้ผักหวานแตกยอดขึ้นมาใหม่ให้เก็บได้อีก วนเวียนกันอย่างนี้ตลอดไป ส่วนใหญ่ผักหวานจะมีราคาดีช่วงหน้าแล้ง และที่ผ่านมายังไม่เคยใส่ปุ๋ยเคมีเลยเพราะผักหวานป่าจะไม่ชอบปุ๋ยเคมี เมื่อเก็บยอดผักหวานได้แล้วก็จะนำมามัดเป็นกำ เฉลี่ย 3 กำต่อ 1 กิโลกรัม จากนั้นจะมีแม่ค้ามารับถึงสวน ซึ่งปัจจุบันขายที่กิโลกรัมละ 90 บาท แต่ละวันจะเก็บยอดผักหวานได้ระหว่าง 30-50 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแม่ค้าจะสั่งจองมาวันละเท่าไหร่ ถ้าหากเป็นช่วงที่มีงานเทศกาลจะมีคนสั่งจำนวนมาก

          "ปีแรกเราเก็บได้ 3 หมื่นบาท ปีถัดมาได้ 1.4 แสนบาท ล่าสุดปี 2554 เก็บได้กว่า 5 แสนบาท แต่ปลายปีที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมต้นปีที่แล้วต้นผักหวานตายไป 3 เหลือ เหลืออยู่ 5 เริ่มเก็บยอดมาตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบันกว่า 1.4 แสนบาท คิดว่าจะปลูกเพิ่มในส่วนที่ตายไป แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร" สมคิด กล่าวและว่า ในส่วนของการเก็บยอดผักหวานให้ได้ทันตามกำหนดที่สั่งจอง ต้องจ้างแรงงานเก็บวันละ 3-5 คน ให้ค่าจ้างวันละ 150 บาท พร้อมจะบริการกาแฟ อาหารว่าง และอาหารกลางวันด้วย

          นับเป็นเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จอีกคนหนึ่งที่สามารถพัฒนาที่ดินที่แห้งแล้ง สามารถปลูกพืชที่สร้างรายให้ครอบครัวได้อย่างดี และวันนี้สวนผักหวานป่าของสมคิด พวงนาค แห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกร หากสนใจสามารถสอบถามได้ที่โทร.08-9566-3599