ไลฟ์สไตล์

หัตถกรรมชนเผ่า'ดอยช้าง'

หัตถกรรมชนเผ่า'ดอยช้าง'

04 พ.ค. 2555

หัตถกรรมชนเผ่า 'ดอยช้าง' งานเย็บมือ-ขายโครงการหลวง : โดย ... ประภาภรณ์ เครืองิ้ว

          บนยอดดอยสูงจากระดับน้ำทะเล 600-1,600 เมตร เป็นที่ตั้งของบ้านดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงใหม่ ว่ากันว่าไม่เพียงแต่ที่นี่เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ดีแห่งหนึ่งของประเทศแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่รวมกลิ่นอายของวัฒนธรรมชนเผ่าไว้อย่างน่าสนใจ ภายใต้การ ขับเคลื่อนของสถาบันวิจัย และพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืน 

          ด้วยเสน่ห์ของกลุ่มชาวเขาที่มีฝีไม้ลายมือด้านหัตถกรรมเป็นของตัวเองอยู่แล้ว จึงเป็นหนึ่งในแผนของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยมีการส่งเสริมให้ชาวเขาได้รวมกลุ่มกันในนาม "กลุ่มหัตถกรรมบ้านดอยช้าง" เพื่อร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ผ้านำไปขาย สร้างรายได้เสริมให้แก่กลุ่มแม่บ้าน โดยชิ้นงานฝีมือจะออกมาในรูปของงานฝีมือ เช่น กระเป๋า พวงบุญแจ เสื้อผ้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจะมีสีสันแปลกตา มีหลากหลายให้เลือกซื้อหา ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นงานเย็บมือ จึงประณีตสวยงาม

          นางธัญชนก เลเซื่อกู่ สมาชิกของกลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านบ้านดอยช้าง กล่าวว่า ตนเองเป็นชาวเขาเผ่าอาข่า มีอาชีพเก็บกาแฟเป็นรายได้หลัก แต่หลังจากที่สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จ.เชียงราย เข้ามาสนับสนุนให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมด้วยการสอนประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจำหน่าย ผ่านมูลนิธิโครงการหลวง และเนื่องด้วยกลุ่มแม่บ้านจะมีการเย็บผ้าเองอยู่แล้ว จึงนำผ้ามาดัดแปลงสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จำหน่าย โดยผลิตภัณฑ์ของชาวอาข่าจะเน้นสีโทนเข้มแต่ยังเน้นความสดใส ซึ่งมีให้เลือกกว่า 10 แบบ ทั้งกระเป๋า เสื้อ กระโปรง 

          "หลังจากกลุ่มตั้งราคาขายแล้ว มูลนิธิจะเป็นผู้กำหนดราคาอีกครั้ง เพื่อให้กลุ่มมีกำไรจากการขายผลิตภัณฑ์ จากนั้นจะหักกำไรร้อยละ 10 นำเข้ากองทุนกลุ่ม เพื่อนำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงหรือใช้เป็นเงินหมุนเวียน รวมทั้งค่าน้ำมันรถหากกลุ่มต้องเดินทางไปดูการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ยังที่อื่น อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านดอยช้างที่ทำขึ้นยังบ่งบอกถึงความเป็นอารยธรรมของแต่ละชนเผ่าได้อย่างสวยงามและลงตัวด้วย" 

          ขณะที่ นางมะลิวัลย์ ตั้งมี่ ชาวเขาเผ่าลีซู หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีอาชีพเก็บกาแฟ ได้ค่าจ้างวันละ 150 บาท แต่ถ้าหากนำผลิตภัณฑ์ไปส่งขายให้มูลนิธิโครงการหลวง ก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีกตกวันละ 300 บาท ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มจะค่อยๆ ทยอยทำส่งมูลนิธิโครงการหลวง และต้องผ่านการตรวจสอบว่าได้คุณภาพหรือไม่ ถ้าไม่ได้คุณภาพมูลนิธิก็จะส่งผลิตภัณฑ์กลับเพื่อให้นำไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะส่งขายตามตลาดต่างๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ของชาวลีซู จะอยู่ที่การเล่นลวดลาย สลับผ้า การต่อผ้าให้สวยงามรวมทั้งสีสันจะต้องฉูดฉาด ซึ่งผลิตภัณฑ์มีราคาตั้งแต่ 29 บาท ไปจนถึง 490 บาท แล้วแต่ขนาด มีตั้งแต่ที่ รัดผม เข็มขัด กระเป๋าใส่ของ กระเป๋าใส่เครื่องเขียน 

          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาของกลุ่มคือการตลาด โดยที่ผ่านมาจะมีการผลิตงานหัตถกรรมเหล่านี้ออกมาจำหน่ายของใครของมัน แต่เมื่อมีการรวมตัวกันแล้ว โดยมูลนิธิโครงการหลวงเข้ามาช่วยพัฒนาและส่งเสริมเพื่อเปิดตลาดให้กว้างขึ้น จึงค่อนข้างมั่นใจว่าจะเป็นตัวเข้ามาเสริมรายได้ให้แก่ชาวบ้านดอยช้าง ควบคู่ไปกับการปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวได้เป็นอย่างดี

 

 

----------

(หมายเหตุ : หัตถกรรมชนเผ่า 'ดอยช้าง' งานเย็บมือ-ขายโครงการหลวง : โดย ... ประภาภรณ์ เครืองิ้ว)

----------