ไลฟ์สไตล์

'โรครากขาว'มหันตภัยเงียบยางพารา

'โรครากขาว'มหันตภัยเงียบยางพารา

08 พ.ค. 2555

'โรครากขาว' มหันตภัยเงียบยางพารา แนะใช้กำมะถันราดโคนแทนปูนขาว : คอลัมน์ คิดเองทำเอง : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          มหันตภัยเงียบของยางพารา ไม่เพียงแต่การกรีดยางต้นเล็กที่ไม่ได้ขนาดเท่านั้น แต่การเกิดโรคต่างๆ ยังเป็นภัยมืดที่คุกคามยางพารา จนสร้างความเสียหายนับหลายหมื่นล้านบาทในแต่ละปี เพียงแค่ 3 โรคโดยเฉพาะโรครากขาว โรคใบร่วงและโรคเส้นดำนั้น เสียหายร้อยละ 3 หรือคิดเป็นมูลค่า ปีละ 9,240 ล้านบาทต่อปี 

          "โรครากขาวในโคนต้นยางพารา เกิดจากเชื้อราที่มีชื่อว่า Rigidoporus lignosus และในบริเวณนั้นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุมีน้อย หรือมากเกินไป หรือสารเคมี เป็นต้น ลักษณะอาการของ โรคจะสังเกตเห็นเส้นใยของเชื้อราจะเป็นสีขาว แตกกิ่งก้านแผ่ปกคลุมทั่วบริเวณราก ถ้าเป็นเส้นใยที่อายุมากจะกลมนูนและกลายเป็นสีเหลืองซีด หรือแดงซีด 

          "ในระยะที่เป็นโรคอย่างรุนแรงจะเป็นสีครีม ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะเน่า และดอกเห็ดมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลม แผ่นเดียวหรือซ้อนกันหลายแผ่นเป็นชั้นๆ เกาะติดกับโคนต้นหรือรากเหมือนหิ้ง ผิวด้านบนของดอกเห็ดเป็นสีเหลืองส้ม เป็นวงสลับสีอ่อนแก่ ขอบดอกเป็นสีขาว ด้านล่างเป็นสีส้มแดงและเป็นรูเล็กๆ"

          อารมณ์ โรจน์สุจิตร นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงมหันตภัยจากโรครากขาวในต้นยางพาราในระหว่างการออกบูธจัดนิทรรศการงานมหกรรมยางทั่วไทย “เร่งบริบทงานวิจัย...ขจัดภัยมือยางพารา” ซึ่งสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่ 

          เธอยอมรับว่าการรักษาโรคชนิดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะถ้าหากมีต้นตายหรือเป็นโรคอย่างรุนแรง จะมีอาการใบเหลืองทั้งต้น สิ่งที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนก็ควรขุดรากถอนโคนและเผาทำลายทิ้งเพื่อป้องกันและรักษาต้นข้างเคียงไม่ให้เป็นโรค ในขณะเดียวกันการป้องกันและรักษาโรครากขาวให้ได้ผลนั้นจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป  

          "สิ่งแรกที่เกษตรกรควรทำคือการเตรียมพื้นที่ปลูกยางให้ปลอดโรค โดยขุดทำลายตอยางเก่าทิ้ง เพื่อกำจัดแหล่งโรค จากนั้นควรปลูกพืชคลุมดินเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์บางชนิดที่เป็นพิษกับเชื้อราที่สาเหตุของโรค ถ้าพื้นที่ใดมีการระบาดของโรครากอย่างรุนแรง ก็ควรปลูกพืชอื่นอย่างน้อย 1-2 ปี เพื่อลดการระบาดของโรคและพืชที่ปลูกไม่ควรเป็นพืชอาศัยของโรคราก" 

          อารมณ์อธิบายต่อว่า วิธีการแก้ปัญหาโดยการใช้สารเคมี ด้วยการใช้กำมะถันผง อัตรา 150 กรัม/ต้น ใส่ในหลุมก่อนปลูกยาง เพื่อลดพีเอช (pH) ของดิน ทำให้ไม่เหมาะต่อการเจริญของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค ถ้าในพื้นที่ที่เป็นโรคอย่างรุนแรง ควรใช้อัตรา 250 กรัม/หลุมปลูก นอกจากนี้ยังต้องป้องกันรักษาต้นข้างเคียงที่ยังไม่เป็นโรค หรือเป็นโรคเพียงเล็กน้อย ด้วยสารเคมีไตรเดอมอร์ฟ หรือไซโปรโคนาโซล อัตรา 10-20 มิลลิลิตร/น้ำ 2 ลิตร/ต้น หรือใช้เฟนพิโคลนิล อัตรา 4-8 กรัม/น้ำ 3 ลิตร/ต้น 6 เดือน/ครั้ง โดยเทราดรอบโคนต้นที่เซาะเป็นร่องเล็กๆ กว้าง 10-15 ซม. ปล่อยให้สารเคมีค่อยๆ ซึมไปตามราก 

          "การกำจัดโรครากขาวในแปลง ที่ผ่านมาเกษตรกรมักเข้าใจผิดๆ จากความเชื่อเดิมที่ว่าใช้ปูนขาวสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ที่จริงไม่ใช่ ปูนขาวไม่ได้สามารถช่วยได้ เพราะเชื้อราตัวนี้จะชอบสภาพดินอยู่ในระดับปานกลางคือ pH6-7 แต่โดยปกติดินจะมีความเป็นกรดอ่อนๆ คือ 4-5 ถ้าเราใส่ปูนขาวลงไปจะช่วยให้เชื้อราโรคราขาวเจริญเติบโตเร็วขึ้น เราจึงไม่แนะนำให้ใช้ แต่ให้ใช้กำมะถันราดลงบริเวณโคนต้น เพราะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ แต่ควรระวังกำมะถันก็จะเป็นอันตรายหากใส่ในยางต้นเล็ก" นักวิชาการคนเดิมกล่าวย้ำ

 

          โรครากขาว จึงนับเป็นอีกหนึ่งมหันตภัยเงียบที่เกิดขึ้นกับยางพาราหากเกษตรกรชาวสวนยางไม่ป้องกันและดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

 

 

----------

(หมายเหตุ : 'โรครากขาว' มหันตภัยเงียบยางพารา แนะใช้กำมะถันราดโคนแทนปูนขาว : คอลัมน์ คิดเองทำเอง : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)

----------